กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ผลตรวจยีน NAT2 ประกอบการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ด้วยยา Isoniazid เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคสู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทย
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ผลตรวจยีนแนททู (NAT2) ประกอบการรักษา
ผู้ป่วยวัณโรค ด้วยยา Isoniazid” ภายใต้โครงการตรวจแนททูไดโพลทัยป์ (NAT2 diplotype) ด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์(Real-time PCR) เพื่อประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid (ไอโซไนอะซิด) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้แทน JICA ประจำประเทศไทยผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัณโรค เข้าร่วมการประชุม ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
นพ.ยงยศกล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ด้วยอัตราผู้ป่วยรายใหม่และการแพร่กระจายของโรคที่ยังคงพบได้อย่างต่อเนื่อง ความท้าทายหนึ่งของการรักษาวัณโรคคือผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรคโดยเฉพาะยา isoniazid ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำจัดเชื้อวัณโรคในร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดอาการตับอักเสบในผู้ป่วยบางราย ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องหยุดการรักษากลางคันซึ่งลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมโรคและเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ จึงนำเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านจีโนมิกส์ การตรวจยีน NAT2 diplotype ด้วยเทคนิค Real-time PCR มาใช้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยแพทย์ ในการปรับระดับยา isoniazid ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จากการศึกษาพบว่า ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงอย่างตับอักเสบและเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาด
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ถึง 27 กรกฎาคม 2568 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ดำเนินการร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างจากผู้ป่วยจำนวน 2,523 ราย ผลการตรวจวิเคราะห์พบกลุ่มย่อยสลายยาช้า (Slow acetylator) มีจำนวน 1,026 ตัวอย่าง กลุ่มย่อยสลายยาได้ปานกลาง (Intermediate acetylator) มีจำนวน 1,131 ตัวอย่าง และกลุ่มย่อยสลายยาเร็ว(Rapid acetylator) มีจำนวน 366 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 41, 45 และ 14 ตามลำดับ จากการวิจัยพบว่าชนิดของการย่อยสลายยาช้า (slow acetylator) ทำให้มีเมตตาโบไลท์ของยาที่เป็นพิษต่อตับสะสมในเซลล์ตับสูง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงการเกิดตับอักเสบ ข้อมูลนี้มีคุณค่ามหาศาลในการช่วยแพทย์ตัดสินใจรักษาอย่างเหมาะสม
“ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัณโรค จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการนำผลตรวจยีน NAT2 ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคในบริบทของแต่ละโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับคุณภาพการรักษาผู้ป่วยวัณโรค รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค และช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันวัณโรค สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทย” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยวัณโรค ตรวจ NAT2 diplotype โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.02-9510000 ต่อ 98095 หรือ 98096
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี