ปัญหาคุณภาพอากาศแย่ลง ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกระลอกในสัปดาห์นี้ แพทย์เตือนฝุ่นขนาดจิ๋วสามารถเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ แนะสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว
นพ.ชนทัต ไตรทอง แพทย์ผู้ชำนาญพิเศษเฉพาะทาง อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลถึงอันตรายของ ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจและอาจลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้
ฝุ่น PM2.5 คืออะไร?
อนุภาคฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือประมาณ 1/30 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ด้วยขนาดที่เล็กมาก ฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และปอดของมนุษย์ได้ง่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองไอ หอบ หรือหายใจลำบากจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วงปลายปี ค่า ฝุ่น PM2.5 มักจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง หรือพื้นที่ใกล้แหล่งก่อมลพิษ ดังนั้น การป้องกันตัวเองจาก ฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
การสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยผลกระทบต่อสุขภาพมีดังนี้
ผลกระทบระยะสั้น : ระบบทางเดินหายใจระคายเคืองจมูก และลำคอ มีอาการไอ จาม หายใจลำบาก โรคหอบหืด หรือภูมิแพ้กำเริบ ดวงตา ตาแดง ระคายเคืองตา และน้ำตาไหล อาการทั่วไป อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และรู้สึกไม่สบายตัว
ผลกระทบระยะยาว : โรคทางเดินหายใจเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบ โรคมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อปอด
ผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ และเด็ก เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ และการคลอดก่อนกำหนด ส่งผลต่อพัฒนาการทางปอด และสมองของเด็ก
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กและผู้สูงอายุ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและมีความไวต่อมลพิษ หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฝุ่น PM2.5 อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคหอบหืด
วิธีป้องกันตัวเองจาก ฝุ่น PM2.5
สวมหน้ากากอนามัย ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน เช่น หน้ากากอนามัย N95 หรือ N99 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองเข้ามาภายในอาคาร และการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้านช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในพื้นที่ปิด
หลีกเลี่ยงการออกไปนอกอาคารในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง โดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่ฝุ่นจะกระจายมากที่สุด หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกให้พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศหมุนเวียนดี หรือใส่หน้ากากตลอดเวลา นอกจากนี้ ควรล้างหน้า ล้างมือ และอาบน้ำทันทีเมื่อเข้าบ้าน เพื่อขจัดฝุ่นที่ติดมา
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
แม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมสามารถลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ การสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ การอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และการปรับตัวในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี จะช่วยให้เรามีสุขภาพดีแม้ในสภาพอากาศที่มีมลพิษสูง หรือหากพบอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี