ผู้เขียนกำลังจะไปสังเวชนียสถานที่อินเดียในเร็วๆ นี้ ก็ต้องเตรียมยาไปด้วย เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ยาเวลาเจ็บป่วย ประกอบกับเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวนักแสดงไต้หวันเสียชีวิตเพราะไข้หวัดใหญ่ระหว่างไปเที่ยวญี่ปุ่น จึงทำให้ตระหนักได้ว่า การไปเจ็บป่วยต่างบ้านต่างเมือง เป็นเรื่องที่ลำบากมาก ต่อให้ซื้อประกันการเดินทางหรือไปกับทัวร์วีไอพีก็ตาม เพราะการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของต่างเมืองต่างภาษาไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยขั้นตอนกฎกติกาต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าบริการสาธารสุขเมืองไทยเป็นอะไรที่เข้าถึงง่ายที่สุดแล้วสำหรับคนไทย และคนอีกหลายเชื้อชาติ
เวลาเราไปเที่ยวในประเทศต่างๆ ที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นอย่างประเทศไทย หนึ่งในกลุ่มโรคที่บางท่านมีความกังวล คือโรคติดเชื้อ
ส่วนอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ บางส่วนของประเทศมีลักษณะอากาศที่ร้อนชื้น จึงทำให้บางท่านอาจมีความกังวลเรื่องสุขอนามัย โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวอินเดีย (ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับแถวๆ บ้านเรา) อาจจำแนกคร่าวๆ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ตั้งแต่โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงโรคบิด และโรคไข้ไทฟอยด์ ที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ แต่ละเชื้อโรคก็จะมีรายละเอียดของอาการที่แตกต่างกัน
ฉะนั้นเราจึงต้องป้องกันโดยกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังมี โรคตับอักเสบซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในอาหารและทำให้เป็นไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งป้องกันโดยการฉีดวัคซีนและรักษาสุขอนามัย
2.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีโรคที่หลากหลายตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่จนกระทั่งวัณโรค ทั้งนี้เราสามารถป้องกันได้โดยฉีดวัคซีน และสวมหน้ากากอนามัยในที่แออัด หมั่นล้างมือ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
3.โรคติดเชื้อจากแมลงและสัตว์ ยุงเป็นพาหะของหลายโรค เช่น โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใส่เสื้อผ้าแขนยาว และควรใช้ยากันยุง ส่วนในโรคไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบเจอี เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้
4.โรคติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคฉี่หนู ซึ่งเชื้อมีการปนเปื้อนในน้ำหรือดิน ป้องกันโดยสวมรองเท้ากันน้ำ เมื่อเดินในพื้นที่เสี่ยง และหลีกเลี่ยงแหล่งที่จะลุย หรือสัมผัสน้ำสกปรก
อย่างไรก็ตาม เราสามารถคลายกังวลจากการเจ็บป่วยโรคติดเชื้อระหว่างเดินทาง โดยมาตรการการป้องกัน ดังนี้
· ฉีดวัคซีนที่จำเป็น เช่น ไวรัสตับอักเสบเอและบี ไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบเจอี ไข้ไทฟอยด์ ทั้งนี้ต้องวางแผนเวลาให้เหมาะสม เผื่อเวลาให้วัคซีนสร้างภูมิค้มกัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
· รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และใช้เจลแอลกอฮอล์เมื่อไม่มีสบู่ และน้ำสะอาด
· ดื่มน้ำสะอาด ควรดื่มน้ำขวดที่ปิดสนิท และสะอาด โดยหลีกเลี่ยงน้ำแข็ง
· เลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่และหลีกเลี่ยงอาหารริมทาง
· ใช้ยากันยุงและป้องกันแมลงกัดต่อยโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อมาลาเรียและไข้เลือดออก
· เตรียมยาสำหรับการเจ็บป่วยเบื้องต้น
ยาที่แนะนำให้เตรียมเพื่อป้องกันและรักษาอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเดินทาง คงไม่ได้แตกต่างจากการไปเที่ยวครั้งอื่นๆ มากนัก อันดับแรก และขาดไม่ได้เป็นอันขาด ก็คือ ยาสำหรับโรคประจำตัวที่รับประทานเป็นประจำ และควรเตรียมในจำนวนเกินกว่าจำนวนวันที่จะใช้สักหน่อย เผื่อมีการเลื่อนวันเดินทางกลับ หรือกรณีฉุกเฉินใดๆ เราจะได้ยังมียาเหลือพอที่จะใช้
อันดับถัดไปก็พิจารณาตามความเสี่ยงของพื้นที่และความชุกของโรคต่างๆ รวมทั้งให้พิจารณาว่าโดยปกติแล้ว เวลาเราไปไหนมาไหนมักจะมีความเจ็บป่วยอะไรที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ยาที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยขั้นต้น
ยาในกลุ่มแรกคือ ยาใช้กับโรคทางเดินอาหาร ในบางท่านที่มักจะมีปัญหาเรื่องท้องอืดท้องเฟ้อจากการรับประทานอาหารแปลกๆ หรือเครื่องเทศแรงๆ สามารถใช้ตัวยาไซเมติโคน หรือยาที่มีส่วนประกอบตัวยาโซเดียมไบคาร์บอเนต เพื่อช่วยลดแก๊สในทางเดินอาหาร
อีกกลุ่มอาการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหารได้แก่ อาการท้องเสีย หรือท้องร่วง ในกรณีนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชดเชยน้ำและเกลือแร่ โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ORS นอกจากนี้ ผงถ่านคาร์บอนก็ช่วยซับสารพิษ และในบางกรณีที่นั่งรถยาวๆ และเกิดภาวะท้องเสียซึ่งไม่สามารถหาห้องน้ำได้ อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) เพื่อให้หยุดถ่าย ใช้บรรเทาอาการท้องเสียแบบท้องเสียแบบเฉียบพลัน ซึ่งโดยปกติแล้วไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากถ้าเรามีเชื้อโรคหรือสารพิษ เราต้องการให้ขับออกมาจากร่างกายแต่ในกรณีที่หาห้องน้ำไม่ได้ หรืออยู่ระหว่างเดินทางก็มีความจำเป็นต้องใช้ สำหรับอาการท้องเสียจากเชื้อเแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนใช้
ยารักษาอาการปวด ลดไข้ ถ้าไม่แพ้ยาพาราเซตามอล ยังคงแนะนำพาราเซตามอลเป็นยาตัวแรกที่เลือกใช้ สำหรับท่านที่มีอาการอื่นๆ เช่น
ปวดศีรษะไมเกรน หรือผู้หญิงบางท่านที่อาจจะปวดประจำเดือนระหว่างการเดินทาง ก็ควรพกยาที่ท่านเคยรับประทานอยู่เป็นประจำติดไปด้วยก็น่าจะดี
ยาแก้แพ้ ขอแนะนำยาแก้แพ้ในกลุ่มที่ไม่ง่วงซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น เซตทิริซีน ลอราทาดีน บิลาสทีน เฟกโซเฟนาดีน เป็นต้น
ยาเม็ดบรรเทาอาการเมารถเมาเรือ ตัวยาไดเมนไฮดริเนท
ยาใช้ภายนอกก็มีความจำเป็นเช่นกัน ได้แก่ แอลกอฮอล์โพวิโดนไอไอดีน พลาสเตอร์ สำหรับจัดการกับแผล ยานวดแก้ปวดเมื่อย รวมถึงยาดม ยาหม่อง ยาทาหรือสเปรย์กันยุง และหน้ากากอนามัย ถ้าท่านมีกิจกรรมกลางแจ้ง ครีมกันแดดก็จำเป็นเนื่องจากในบางพื้นที่แดดค่อนข้างแรงทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบแสบร้อนผิวหนังได้
และที่สำคัญยาที่เตรียมไปทุกชนิดควรมีฉลากชื่อยา วิธีใช้ รวมถึงมีวันหมดอายุระบุบนภาชนะบรรจุยาด้วย
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอินเดียควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการฉีดวัคซีน รักษาสุขอนามัย และป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ หากมีอาการผิดปกติหลังเดินทาง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี