“เราจะ Reforestation (ฟื้นฟูป่า) กับต้นไม้ที่เป็น Original Species (สายพันธุ์ดั้งเดิม) ให้คืนกลับมา ก็แปลว่าเป็น Healing (การเยียวยา) มนุษย์เราบางทีธรรมชาติก็ไมได้ดูแลมาก เราก็คิดว่าจะดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลธรรมชาติของเรา เวลาทำคอนเซ็ปต์แบบนี้ขึ้นมา แล้วหลังจากนั้น เราสนใจอะไร เราสนใจเรื่องศิลปะ สนใจอาหาร สนใจการศึกษา และสนใจนวัตกรรม”
มาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง Bangkok Kunsthalle เล่าถึงที่มาของโครงการ “Khao Yai Art Forest” หรือ “ศิลป่าเขาใหญ่” สถานที่ที่ผู้มาเยือนจะได้ดื่มด่ำกับผลงานศิลปะท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ จากประสบการณ์การเดินป่า มองดูต้นไม้นานาชนิดแล้วรู้สึกถึงธรรมชาติซึ่งช่วยเติมพลังให้กับชีวิตของมนุษย์ บวกกับการที่เธอเป็นนักสะสมผลงานศิลปะและเป็นกรรมการสถาบันศิลปะระดับโลกหลายแห่ง เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม มีศิลปินที่มีความสามารถหลายท่าน เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ค่อยมีเวทีจัดแสดงผลงานมากนัก
สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา
ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ “พักกาย-พักใจ” หลีกหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่ มาสัมผัสกับบรรยากาศที่ผสานระหว่างธรรมชาติของ “เขาใหญ่” จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็น “อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย” กับผลงานศิลปะหลากหลายประเภทของบรรดาศิลปินที่รังสรรค์ขึ้นและจัดวางไว้ ณ พื้นที่แห่งนี้อย่างลงตัว
หนึ่งในผลงานที่จัดแสดง ซึ่งเป็น “จุดบรรจบ” ระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “นวัตกรรม” คือผลงาน “Fog Land #48435” เป็นผลงานประติมากรรมหมอก โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) ที่สถาปนิกและภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์ สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา (Stefano Rabolli Pansera) บรรยายไว้ว่า ผลงาน Fog Land #48435 ต่างจากแลนด์อาร์ทแบบดั้งเดิม เนื่องจากแลนด์อาร์ทโดยทั่วไปมักถูกสร้างสรรค์ให้อยู่ในรูปทรงเรขาคณิตภายใต้บริบทของธรรมชาติ แต่ประติมากรรมหมอกของนากายะแสดงให้เห็นถึงพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งหมอกทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงการผันแปรของสภาพแวดล้อม
Madrid Circle
“ประติมากรรมหมอกไม่ได้ครอบครองพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างลม อุณหภูมิ ความชื้นและความกดอากาศ ภายใต้บริบทนี้ หมอกกลายเป็นผังภาพของกระบวนการเชิงสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจมองเห็น และเผยพลังธรรมชาติให้ปรากฏสู่สายตา” คุณสเตฟาโน กล่าว
เบื้องหลังภาพของทะเลหมอกที่สวยงามในศิลป่าเขาใหญ่ มาจากนวัตกรรมของ Aquaria บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวความชื้นในอากาศด้วยพลังงานหมุนเวียน เปลี่ยนงานศิลปะที่เหนือจริงนี้ให้เป็นผลงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งคุณมาริษา กล่าวว่า ที่นี่เราพยายามใช้นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
Fogland-จารึก
อีกผลงานที่ผู้มาเยือนศิลป่าเขาใหญ่จะพบเห็นได้ทันทีหลังผ่านอุโมงค์ทางเข้า คือ “Maman” ประติมากรรมแมงมุมขนาดยักษ์ ผลงานของ ลูอิซ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้ล่วงลับ ซึ่งศิลปินท่านนี้เคยอธิบายไว้ว่า Maman เป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงมารดาของตนเองซึ่งมีอาชีพเป็นช่างทอผ้าและเป็นนักอนุรักษ์ผ้าทอ โดย บูร์ชัวส์ กล่าวถึงมารดาว่าเป็นคนฉลาดรอบคอบ อดทน อ่อนโยน มีเหตุผล งดงาม นุ่มนวล สำคัญ ประณีต และมีประโยชน์เหมือนกับแมงมุม (ซึ่งกินพาหะนำโรคอย่างยุงเป็นอาหาร)
ที่ผ่านมา ประติมากรรม Maman มักถูกนำไปจัดแสดงในพื้นที่เมือง แต่ ณ ศิลป่าเขาใหญ่ ได้นำ Maman มาจัดแสดงไว้ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติ อีกทั้งความพิเศษคือการจัดวางไว้กับ “แปลงนาข้าว” ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยอย่างการทำนา และในแง่ของการเยียวยาฟื้นฟู เช่นเดียวกับแมงมุม มนุษย์ต้องถักทอความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้ง เพราะธรรมชาติเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและบ้านของเรา
GOD
ณ ยอดเขาลูกหนึ่งที่สูงและสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของศิลป่าเขาใหญ่ ที่นั่นมีการจัดแสดงผลงาน “Madrid Circle” ของศิลปินชาวอังกฤษ ริชาร์ด ลอง (Richard Long) แผ่นหินชนวนที่ถูกจัดเรียงไว้เป็นวงกลม สะท้อนถึงปรัชญาที่ผสานพลังแห่งธรรมชาติเข้ากับความสงบทางจิตวิญญาณ เพื่อนิยามศิลปะใหม่ผ่านการกระทำอันเรียบง่ายของการเดิน ซึ่งศิลปินท่านนี้ได้เชิญชวนให้เรามองว่า “การเดินไม่ใช่เพียงการเคลื่อนที่..แต่เป็นศิลปะในตัวของมันเองด้วย” เป็นการเชื่อมต่อที่กลมกลืนกับโลก
“ศิลปินที่เราคัดสรรมา พร้อมกับผลงานอันน่าทึ่งของพวกเขา สะท้อนถึงหัวใจสำคัญของศิลป่าเขาใหญ่ นั่นคือการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ค้นหาพลังแห่งการเยียวยาที่ธรรมชาติมอบให้ และย้อนสู่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ขาดหายไปเพราะความเจริญ” คุณมาริษา กล่าว
Maman
ขณะที่คุณสเตฟาโน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของศิลป่าเขาใหญ่ กล่าวเสริมว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและการพัฒนาเมืองทำให้เราห่างไกลจากธรรมชาติ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นตัวแทนของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เราหวังว่าศิลป่าเขาใหญ่จะสร้างแรงบันดาลใจและเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ค้นพบความสงบสุขผ่านศิลปะและธรรมชาติ
นอกจากศิลปะแล้ว “อาหาร” ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Khao Yai Art Forest หรือศิลป่าเขาใหญ่ ตั้งใจนำเสนอกับผู้มาเยือน โดยคุณมาริษา กล่าวถึงการก่อตั้งมูลนิธิ “Chef Cares (เชฟแคร์ส)” ว่า Chef Cares มีพันธกิจอย่างหนึ่งคือการอนุรักษ์อาหารไทย ซึ่งวัตถุดิบหลายอย่างที่บรรยายไว้ในตำรับโบราณ เช่น อาหารชาววัง ปัจจุบันวัตถุดิบหายากมาก หากไม่อนุรักษ์ไว้อาจสูญหายไปได้ในอนาคตอันใกล้ โดยผัก-ผลไม้ต่างๆ ที่ปรากฏในตำราแต่หาไม่เจอตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ตั้งใจจะให้มาปลูกที่นี่
Fogland
สำหรับ “Khao Yai Art Forest” หรือ “ศิลป่าเขาใหญ่” จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.พ. 2568 โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และติดต่อสอบถามได้ที่เว็บไซต์ https://www.khaoyaiart.com/ หรือที่อินสตาแกรม https://www.instagram.com/khaoyai_art_forest/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี