จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์1,500 บาท แลกกับผืนดินบนดอยอ่างขาง เกิดเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงผืนดินขนาดใหญ่ที่เคยเป็นไร่ฝิ่น และป่าเสื่อมโทรม กลับกลายเป็นสวนสวรรค์แห่งพืชพรรณเมืองหนาว และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ หนึ่งในสถานที่ที่คนทั่วโลกอยากมาเที่ยวมากที่สุดในหน้าหนาวนี้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อสืบสานพระราชปณิธานแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 48 เพื่อนำคณะครูอาจารย์และผู้สนใจเดินทางมาเรียนรู้ต้นแบบแห่งความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา และเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้างเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
นางวิชชุดา ไตรธรรมที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงแต่ยังเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จในการ พัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาจากที่เคยพึ่งพารายได้จากการปลูกพืชเสพติด สู่การเพาะปลูกพืชเมืองหนาวที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้อย่างมั่นคง ที่นี่คือแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากการเข้าใจ เข้าถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยคำนึงถึงทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่นี่ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับโครงการพัฒนาพื้นที่สูง รวมถึงโครงการพัฒนาในมิติอื่นๆ ทั่วประเทศ ดังปณิธานของโครงการหลวงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9ได้พระราชทานว่า ช่วยขาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”
ผู้เข้าร่วมโครงการได้สัมผัสความงดงามของสวนดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ดอกซากุระเมืองไทยบานสะพรั่งเป็นสีชมพูทั่วทั้งดอย สร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ผสานกับความงามของดอกท้อ และดอกพญาเสือโคร่ง ที่ผลัดกันบานในช่วงปลายฤดูหนาวต้นฤดูร้อน นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมสวนต่างๆ อาทิ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สวนสมเด็จ ที่รวบรวมพันธุ์ไม้ประดับเมืองหนาว สวนแปดสิบที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลากสีสัน และสวนกุหลาบอังกฤษที่รวบรวมกุหลาบไว้กว่า 200 สายพันธุ์
อีกหนึ่งไฮไลท์พิเศษของการเยี่ยมชมครั้งนี้คือ สวนคำดอย แหล่งปลูกดอกคำดอย หรือกุหลาบพันปีพันธุ์หายาก และสวนหอมที่รวบรวมพันธุ์ไม้หอมทั้งไทยและต่างประเทศ เช่นหอมหมื่นลี้ ลาเวนเดอร์ และแมกโนเลียซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาวที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศไทย
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิธรรมดี ในการมอบอุปกรณ์ทางการศึกษา และการกีฬาให้กับ 6 โรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ 9 โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนบ้านแม่สาว โรงเรียนบ้านสันต้นดู่ โรงเรียนบ้านต้นส้าน และโรงเรียนมิตรมวลชนเชียงใหม่
ทางโครงการยังได้จัดกิจกรรม Workshop และการบรรยายเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในทุกมิติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉายประธานมูลนิธิธรรมดี และอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไปสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่จารุกัญญ์ โทร.099-3975333 หรือ FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี