การสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญในการรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ที่เป็นต้นเหตุของภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ และต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน
เป็นเวลามากกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ความร่วมมือขับเคลื่อน “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ส่งผลเชิงบวกต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ของผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ลดลง จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี
ความสำเร็จของกระบวนการบริหารจัดการน้ำภายในองค์กรของซีพีเอฟ ที่นำน้ำหลังการบำบัดด้วย Biogas ในฟาร์มเลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นน้ำที่ยังมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช เรียกว่า“น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ในฟาร์ม ทั้งรดต้นไม้สนามหญ้า และแปลงผักปลอดภัย ที่พนักงานปลูกในพื้นที่ว่างของฟาร์มไว้เพื่อบริโภค และด้วยสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ ปีน้ำปุ๋ยจากฟาร์ม จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรโดยรอบ
สิงห์คำ อินทะ เกษตรกรรุ่นบุกเบิกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ มาใช้กับไร่ข้าวโพดหวาน มานานกว่า 20 ปี เล่าว่า เริ่มแรกที่ขอใช้น้ำปุ๋ยเพราะต้องการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เมื่อใช้น้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนสูงเหมาะกับข้าวโพดหวาน ต้นโตไว ฝักใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น รายได้จึงเพิ่มตาม และยังลดค่าปุ๋ยได้ถึง 50-70% จากนั้นเกษตรกรรอบข้างก็ชวนกันมาใช้น้ำปุ๋ย ปัจจุบันใช้อยู่ 15 ราย ทั้งปลูกข้าวโพดหวานและผักสวนครัวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ที่ผ่านมาไม่ต้องเสี่ยงกับภัยแล้ง มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี
ด้าน ณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร และประธานหมอดินจังหวัดจันทบุรี เล่าว่า รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นระบบท่อลำเลียงน้ำที่เปิดใช้วันละ 2-4 ราย ให้เกษตรกร 20 ราย บนพื้นที่ 200 กว่าไร่ ใช้ในสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ กล้วย เฉพาะตนเองใช้ในสวนทุเรียน 10 กว่าไร่ ผลผลิตดีขึ้นมาก ติดผลดี คุณภาพผลผลิตดี เพราะน้ำปุ๋ยมีอินทรียวัตถุที่ดีแทนปุ๋ยเคมี ช่วยปรับโครงสร้างดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ต้นไม้จึงเจริญงอกงาม ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีไปกว่า 20-30%
จากความสำเร็จของธุรกิจสุกร เป็นแนวทางที่ดีที่ธุรกิจอื่นๆ นำไปใช้เป็นต้นแบบ อาทิ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟ จำนวน9 แห่ง ที่ส่งต่อน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรใกล้เคียง วิโรจน์ ใจด้วง ปลูกหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่กว่า7 ไร่ ซึ่งการปลูกหญ้าต้องใช้ปุ๋ยยูเรียจำนวนมากจึงเริ่มรับน้ำตั้งแต่ปี 2564 จากฟาร์มไก่ไข่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยฟาร์มวางระบบท่อยาว1 กิโลเมตร ส่งมาให้โดยต้องผสมกับน้ำจากคลองชลประทานอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้ตอนหลังเก็บเกี่ยวหญ้าเพื่อปรับสภาพดิน ใช้น้ำ 3-4 เดือนต่อครั้ง หลังใช้พบว่า หญ้าลำต้นอวบใหญ่ใบใหญ่โตเร็ว โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยยูเรียอีกเลย ช่วยลดรายจ่ายไปถึง 4,000 บาทต่อปี และได้ผลผลิตเพิ่มเกือบ 50%
ภูเมฆ ถ้ำขี้นาค เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ต.หนองเสาเล้า อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เล่าว่า ปี 2565 ในพื้นที่มีปัญหาภัยแล้ง ตนเองมีไร่อ้อยติดกับฟาร์มไก่ไข่ขอนแก่น จึงขอน้ำมาทดลองใช้ปลูกอ้อย 30 ไร่ ทางโรงงานต่อท่อน้ำให้ใช้โดยตรง เมื่อใช้ช่วงเตรียมดินสังเกตว่าดินคืนสภาพดี ต้นอ้อยเจริญเติบโตดีลำใหญ่ยาว ได้ผลผลิตไร่ละ 21-22 ตัน จากเดิมได้เพียง 15 ตันต่อไร่ และยังลดค่าปุ๋ยเคมีจากเดิม 9 หมื่นบาทต่อปี หลังใช้น้ำปุ๋ยก็ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีและไม่เคยประสบปัญหาแล้งอีกเลย ส่วนไร่อ้อยอีก 10 ไร่ ในอีกพื้นที่เลือกใช้ปุ๋ยกากไบโอแก๊สที่คอมเพล็กซ์ต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ โดยนำไปใส่รองพื้นก่อนปลูกอ้อยช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ 60-70% ผลผลิตเพิ่มกว่า 30%
เสียงสะท้อนจากเกษตรกร ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ไม่เพียงเกิดประโยชน์กับองค์กร แต่ยังมองรวมไปถึงความมั่นคงด้านน้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่าอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี