สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เดินหน้าตอกย้ำคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย ชูงาน “เครื่องรัก-เครื่องมุก” ผ่านนโยบาย “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ขับเคลื่อนนโยบายการอนุรักษ์งานฝีมือทรงคุณค่า และสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าให้อยู่คู่สังคมไทย มุ่งสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนทักษะเชิงช่าง และเชิดชูผู้สร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม ควบคู่ผลักดันการถ่ายทอดองค์ความรู้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำการดำเนินงานของ SACITในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีคุณค่าอย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายในการสืบสาน อนุรักษ์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง”หรือกลุ่มงานศิลปหัตถกรรมไทยมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศที่ใกล้สูญหายให้ยังคงอยู่กับคนรุ่นหลัง โดยในปี 2568 นี้ SACIT ได้มุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้ความสำคัญกับงาน “เครื่องรัก-เครื่องมุก” ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงคุณค่า และเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผลักดันการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาพร้อมปูทางเชื่อมโยงองค์ความรู้ และกระบวนการทักษะเชิงช่างในระดับนานาชาติ
ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์
“สำหรับนโยบายการสืบสานและส่งเสริมคุณค่าหัตถกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าและสืบทอดมรดกภูมิปัญญา พร้อมทั้งผลักดันผลิตภัณฑ์ในกลุ่มงาน “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ โดย SACIT มุ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องรักในระดับสากล ผ่านการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรม “Local Craft to Global Market” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและแนวทางการส่งเสริมองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องรัก ผ่านการจัดนิทรรศการ ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง SACIT ได้ทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการนำช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมศึกษาดูงานระหว่างกัน พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือเชิญมาร่วมในงาน SACIT Symposium การประชุมวิชาการด้านศิลปหัตถกรรม จากผู้เชี่ยวชาญและผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไปถึงจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนางานหัตถศิลป์ไทย งาน “เครื่องรัก-เครื่องมุก” และงานศิลปหัตถกรรมไทยอื่น ๆ อีกหลายแขนง”
อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน
ผศ.ดร.อนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ SACIT ยังคงให้ความสำคัญกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม โดยเฟ้นหาและนำมายกย่อง เชิดชู เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ให้การสนับสนุนเหล่าผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมในทุกมิติ อาทิ การพัฒนาทักษะฝีมือ การส่งเสริมการสร้างรายได้ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ไทย ดังเช่นผลงานหัตถศิลป์ที่คิดถึงในงาน เครื่องรักและเครื่องมุก โดย ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564 ของ SACIT ผู้สืบสานงานประดับมุกที่วิจิตรบรรจง และ อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อนทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2567 ของ SACIT คนรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดเทคนิคเชิงช่างในกระบวนการลงรักปิดทองควบคู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างร่วมสมัย
ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูศิลป์ ของแผ่นดิน ปี 2564 ของ SACITผู้สืบสานอนุรักษ์งานประดับมุกที่มีความวิจิตรบรรจง กล่าวว่า “งานประดับมุก”เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และควรแก่การอนุรักษ์เนื่องจากเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ไทยที่ใกล้สูญหาย ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยฝีมือและความประณีตบรรจง โดยการนำเปลือกหอยที่มีความแวววาว เช่น หอยมุกไฟ หรือหอยโข่งทะเล มาตัด เจียร ฉลุและประดับลงบนชิ้นงาน โดยในอดีตเครื่องประดับมุกเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงและนิยมนำไปใช้ประดับตกแต่งหุ่นไม้โต๊ะหมู่บูชา ซึ่งในปัจจุบันหอยมุกเป็นวัสดุที่หายากและมีราคาสูง ทำให้ต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีช่างรักที่ชำนาญเทคนิคไม่มากนัก จึงเป็นวาระสำคัญของทุกคนในการร่วมกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยแขนงนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย
“ในฐานะครูศิลป์ของแผ่นดินจึงให้ความสำคัญต่อการนำองค์ความรู้ด้านงานช่างประดับมุกเข้าไปถ่ายทอดในสถานศึกษาที่เปิดหลักสูตรงานช่างสิบหมู่ อีกทั้ง ยังถ่ายทอดตามอัธยาศัยให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจจนสามารถสร้างช่างฝีมือเพื่อรับใช้สังคม สร้างสิ่งของเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา ตลอดจนถวายงานสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ งานฉลุลายพระโกศจันทน์ งานอนุรักษ์บานประตูวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
และงานอนุรักษ์บานประตูหอพระมณเฑียร”
ขณะที่ อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2567 ของ SACIT คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในงานหัตถกรรม “ลงรักปิดทอง” และยังเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาหัตถศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับการเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมจาก SACIT เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิก SACIT และมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ใช้ทักษะเชิงช่างในด้านงานหัตถกรรมลงรักปิดทอง ก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ SACIT
“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม SACIT Academy ที่ได้มีการเปิดอบรมสำหรับเทคนิคการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์เพื่อการศึกษา และการต่อยอด “งานเครื่องรัก” อันทรงคุณค่าประณีตวิจิตรในหลากมิติ และได้รับการอบรมพิเศษสำหรับเทคนิคการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความประณีตโดยเรียนรู้จากรูปแบบของเครื่องรักจากแหล่งผลิตสำคัญของประเทศพม่าจากนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอนประจำสาขาวิชาฯ โดยยังส่งเสริมการใช้ทักษะ เทคนิคเชิงช่างควบคู่กับการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เพื่อรังสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ลงรักปิดทองที่มีความร่วมสมัย เช่นเครื่องประดับ กระเป๋า ปากกา ฯลฯ ที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ช่วยสืบสานองค์ความรู้ทักษะเชิงช่างในด้านงานลงรักปิดทองไม่ให้สูญหายไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ได้ที่เว็บไซต์ https://sacit.or.thth หรืออัปเดตกิจกรรมงานคราฟต์ต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/sacitofficial และ TikTok SACIT Officialhttps://www.tiktok.com/@sacit_official
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี