กระแสข่าวเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์ในไทยกลับจีนทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจเกี่ยวกับชะตากรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์กำลังถดถอย
แม้ทั่วโลกจะพยายามรณรงค์ในกรณีอุยกูร์ แต่สถานการณ์ดูจะไม่ได้ดีขึ้นเลย ชาวอุยกูร์ในต่างประเทศหลายคนระบุว่า พวกเขาต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน
ข้อมูลจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ชี้ว่า อียิปต์และตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่ในระยะหลังนี้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการควบคุมชาวอุยกูร์ในประเทศของตัวเองเพิ่มขึ้น รวมถึงการจับกุมตัวและกดดันให้เดินทางกลับจีน หลังจากรัฐบาล 2 ประเทศ ยกระดับความสัมพันธ์กับจีนผ่านโครงการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนของรัฐบาลไทยสร้างความกังวลในหมู่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรวมถึงเอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch ซึ่งมองว่าการดำเนินการของไทยละเมิดทั้งกฎหมายในไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
นับตั้งแต่ปี 2017 มาตรการแข็งกร้าวของทางการจีนในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ส่งผลให้มีชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นกว่า 1 ล้านคน ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวหลายแห่ง โดยทีมวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลียวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแผนที่ศูนย์ควบคุมตัวต้องสงสัยกว่า 385 แห่ง ในซินเจียง ที่ถูกสร้างหรือขยายพื้นที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบด้วยว่ามีมัสยิดรวมทั้งสถานที่ทางศาสนาและวัฒนธรรมในซินเจียงถูกทำลายหรือรื้อถอนไปแล้วหลายร้อยแห่ง หลังการประท้วงของชาวอุยกูร์และเหตุไม่สงบที่ปะทุขึ้นในปี 2009 ซึ่งตามมาด้วยเหตุรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2013 ถึงปี 2015 จนนำมาสู่การปราบปรามของทางการจีน
ในปี 2022 ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า การปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียงของรัฐบาลจีนอาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลังมีรายงานว่า มาตรการของจีนมีทั้งการควบคุมตัว การสอดแนม การถูกบังคับใช้แรงงาน การถูกกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงการบังคับทำหมัน
ด้าน Human Rights Watch ระบุว่า มาตรการที่จีนใช้ยังรวมไปถึงการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดและการควบคุมชาวอุยกูร์ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งไม่ต่างจากการปฏิเสธสิทธิของคนกลุ่มนี้ในการเดินทางออกนอกประเทศ นอกเหนือจากนโยบายเลือกปฏิบัติในการออกหนังสือเดินทางให้กับชาวอุยกูร์ก่อนหน้านี้
ชาวอุยกูร์คือใคร
ชาวอุยกูร์ (Uyghur) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้ามาจากชนเผ่าเร่ร่อนในแถบเอเชียกลางที่มีรากเหง้ามาจากชนเผ่าตุรกีโบราณ ที่เคยอาศัยอยู่ในแถบเอเชียกลางพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับเผ่าซงหนู (Xiongnu) และเผ่าตูเจวี๋ย (Tujue) ซึ่งเคยมีอิทธิพลในบริเวณที่ราบสูงมองโกเลียและทะเลทรายทากลามากัน
ในช่วงศตวรรษที่ 8 ชาวอุยกูร์ได้สถาปนาอาณาจักรของตนเองที่เรียกว่า “อุยกูร์คานาเต” (Uyghur Khaganate) ซึ่งปกครองพื้นที่กว้างขวางและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ถังของจีน อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอุยกูร์ล่มสลายในศตวรรษที่ 9 หลังจากถูกกองกำลังคีร์กีซโจมตี ทำให้ชาวอุยกูร์จำนวนมากต้องอพยพลงใต้สู่ดินแดนที่ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน
หลังจากการอพยพ ชาวอุยกูร์ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในซินเจียง และกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในเส้นทางสายไหม พวกเขาค้าขายกับชาวเปอร์เซีย อาหรับ และจีน ทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากหลายอารยธรรม
ดินแดนซินเจียง หรือชื่อเต็มว่าเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นจุดเชื่อมต่อ
สำคัญของเส้นทางสายไหมมานานนับพันปีมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหลายยุคสมัย นับตั้งแต่ราชวงศ์ถัง จักรวรรดิมองโกล และจักรวรรดิแมนจู
ในปี 1759 ราชวงศ์ชิงได้เข้ายึดครองซินเจียงและกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจีน การปกครองของจีนในภูมิภาคนี้เป็นไปอย่างหลวมๆ จนถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อจีนเริ่มใช้นโยบายรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น
หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิงและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสาธารณรัฐ ชาวอุยกูร์เคยประกาศตั้งรัฐอิสระของตนเอง 2 ครั้ง ได้แก่ สาธารณรัฐตุรกีตะวันออก ครั้งที่หนึ่งในปี 1933 และ ครั้งที่สองในปี 1944 อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รัฐ ถูกกองทัพจีนเข้าปราบปราม
ในปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและได้ผนวกซินเจียงเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสมบูรณ์ โดยกำหนดให้เป็น “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” ซึ่งแม้จะมีสถานะปกครองตนเอง แต่ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง
แม้ซินเจียงจะถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลจีนมีการควบคุมพื้นที่นี้อย่างเข้มงวดมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางชาติพันธุ์และการก่อการร้ายหลายครั้ง ซึ่งจีนมองว่ามีชาวอุยกูร์หัวรุนแรงเป็นผู้กระทำ
หนึ่งในประเด็นที่สร้างความกังวลในระดับนานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ของชาวอุยกูร์คือ ตั้งแต่ปี 2017 มีรายงานว่ารัฐบาลจีนได้กักขังชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ใน “ค่ายปรับทัศนคติ” ซึ่งเชื่อว่ามีชาวอุยกูร์มากกว่า 1,000,000 คนถูกควบคุมตัว รัฐบาลจีนระบุว่าค่ายเหล่านี้เป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ที่ช่วยให้ชาวอุยกูร์พัฒนาทักษะในการทำงานและป้องกันแนวคิดหัวรุนแรง อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยจากซินเจียงให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยอ้างว่าผู้ถูกกักขังต้องเผชิญกับการล้างสมอง การทรมาน และการบังคับใช้แรงงาน
นอกจากการควบคุมตัวแล้ว รัฐบาลจีนยังมีการสอดส่องชาวอุยกูร์ที่อยู่ภายนอกค่ายอย่างเข้มงวด เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ระบบตรวจสอบการสื่อสาร และด่านตรวจที่แพร่หลาย เรียกว่าทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของชาวอุยกูร์เต็มไปด้วยการถูกติดตามและควบคุม
ปัจจุบัน ชาวอุยกูร์มีประชากรประมาณ12 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้มากกว่า500,000 คน อาศัยอยู่ในอย่างน้อย 38 ประเทศนอกจีน โครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ในสหรัฐฯ แบ่งตัวเลขดังกล่าวออกเป็นรายภูมิภาค ซึ่งจะเห็นว่า เอเชียใต้และเอเชียกลางกินส่วนแบ่งชาวอุยกูร์โพ้นทะเลเกือบทั้งหมดตามมาด้วยตะวันออกกลาง 70,000 คน ยุโรปประมาณ 15,000 คน กระจายอยู่ใน 18 ประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมนี
เมื่อแยกดูรายประเทศนับเฉพาะที่มีเกิน 10,000 คน จะเห็นว่า ชาวอุยกูร์โพ้นทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่มีความใกล้เคียงกันในเชิงวัฒนธรรมทั้งในคาซัคสถานที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คนซึ่งมากที่สุด ตามมาด้วยคีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน ตุรกี ไปจนถึงซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ และทาจิกิสถานในเอเชียกลาง
การกระชับความสัมพันธ์ของจีนกับหลายประเทศในเอเชียกลางผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กำลังสร้างความกังวลว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะกลายเป็นช่องทางให้จีนสามารถยื่นมือเข้าไปกดดันข้ามพรมแดนในบ้านหลังใหญ่ของชาวอุยกูร์โพ้นทะเลได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีของไทย องค์การระหว่างประเทศหลายองค์การทยอยออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี