วันก่อนเพื่อนผู้เขียนไปฉีดวีคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เห็นป้ายโฆษณาเชิญชวนฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด โดยป้ายบอกว่าวัย 50 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนนี้เขาจึงกลับมาถามผู้เขียนว่า ควรฉีดหรือไม่ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมีเท่าไร หากเป็นโรคนี้แล้วอันตรายถึงตายไหม เพราะเคยได้ยินว่าถ้าแผลงูสวัดพันรอบตัว แล้วจะตายจริงไหมผู้เขียนจึงเห็นว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้
งูสวัด หรือ Shingles แต่ในภาษาวิชาการเรียกว่า Herpes Zoster เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า Varicella-Zoster Virus คือไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส แต่หลังจากที่ผู้ป่วยหายจากอีสุกอีใสแล้วไวรัสนี้จะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และเมื่อร่างกายของคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสอ่อนแอลง ก็สามารถเป็นงูสวัดได้
โรคงูสวัดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อุบัติการณ์ทั่วโลก อยู่ที่ 3-5 รายต่อประชากร1,000 คนต่อปี ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นเป็น 7-12 รายต่อประชากร 1,000 คนต่อปีผู้หญิง มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เรามีโอกาสเป็นงูสวัดคือ
(1) อายุ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังอายุ 50 ปี และสูงสุดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป
(2) ภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง หรือบกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน หรือทานยาที่มีผลไปลดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคทางออโตอิมมูน หรือแพ้ภูมิตัวเอง
(3) ภาวะเครียดและการบาดเจ็บต่างๆ ทั้งความเครียดทางร่างกาย หรือจิตใจ อาจกระตุ้นให้ไวรัสที่ซ่อนอยู่ทำให้เราเป็นงูสวัดได้
อาการของโรคงูสวัดมักเริ่มต้นด้วยความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน หรือคันในบริเวณที่ผื่นจะปรากฏ จากนั้นจะมีผื่นแดง และตุ่มน้ำใสขึ้นตามแนวเส้นประสาท ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ แผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และอาการปวดตามแนวเส้นประสาท หลังเป็นงูสวัด ซึ่งอาการปวดดังกล่าวมีแนวโน้มพบมากขึ้นในผู้ป่วยในผู้สูงอายุ และอาการปวดนี้สามารถเป็นในระดับรุนแรง และต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือน หรือเป็นปีหลังหายจากงูสวัดไปแล้ว
โรคงูสวัดสามารถรักษาได้โดยใช้ยาต้านไวรัส และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีผื่น โดยต้องรับประทานยานาน 7 วันและในบางรายอาจต้องรับประทานนาน 10 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่ตอบสนองต่อการรักษาช้า โดยชนิดและขนาดของยาขึ้นกับความรุนแรง และการทำงานของไตของผู้ป่วยแต่ละราย
ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง แต่ก็สามารถประคบเย็นเพื่อลดอาการคัน และในผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท สามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ และผู้ป่วยควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอและลดความเครียด
เนื่องจาก เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวจากตุ่มน้ำ ซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใส โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อเป็นอีสุกอีใสได้ ดังนั้น จึงควรปิดแผลให้มิดชิดด้วยผ้าปิดแผลแบบไม่ติดแผล ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสบริเวณที่เป็นแผล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส
ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคงูสวัด ตัวอย่างวัคซีนป้องกันงูสวัดได้แก่วัคซีน ซึ่งแนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันโรคงูสวัดและภาวะปวดประสาทหลังงูสวัด โดยต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของวัคซีนนี้คือราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย วัคซีนก็ลดโอกาสเป็นงูสวัด และลดความเสี่ยงการมีอาการปวดเส้นประสาทหลังการเป็นงูสวัด ซึ่งในบางรายอาจจะทรมาน และเสียค่ารักษาพยาบาลมากกว่าค่าฉีดวัคซีน
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี