สัปดาห์ก่อนได้บอกเล่าเรื่องโรคเบาหวาน แล้วชี้ว่าผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวนมาก และหากผู้ป่วยเหล่านั้นคุมโรคไม่ดีจะเกิดภาวะแทรกซ้อน อันเป็นสาเหตุการป่วยและตายได้ก่อนวัยอันควร แต่สำหรับนักวิจัยสายสุขภาพก็พยายามหาวิธีการและคิดค้นยาตัวใหม่ที่ใช้รักษาโรคเบาหวานตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันมียาหลากหลายกลุ่มที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาล ชะลอโรค และลดอัตราการตายในผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างน่าพอใจ
ก่อนทำความรู้จักกับยารักษาโรคเบาหวาน เราไปรู้จักฮอร์โมนอินซูลินกันก่อน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลจากอาหารที่เรากินเข้าไปสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน หากไม่มีอินซูลิน น้ำตาลจะค้างอยู่ในกระแสเลือด แล้วทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อาจเกิดจากความผิดปกติของการสร้างอินซูลิน หรืออินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานจะออกฤทธิ์เกี่ยวกับอินซูลินและน้ำตาลในเลือด ยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
ปัจจุบันมีนวัตกรรมของยาเบาหวานหลากหลายประเภท ทำให้เลือกใช้ได้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะที่แตกต่างกันเช่น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ยาที่เพิ่มความไวของเซลล์ต่ออินซูลิน ทำให้ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือยาที่ช่วยขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ และยังมียาที่ยับยั้งการย่อยคาร์โบไฮเดรต ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นแบบช้าๆ
แต่ยาบางชนิดให้ผลข้างเคียงที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวานด้วย เพราะยาบางตัวช่วยลดความอยากอาหาร จึงช่วยลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน และยังลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคไต แต่ก็มียาบางชนิดที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงในด้านลบ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องระวังไว้ เช่น ยาอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำเกินไป ในกรณีใช้ยาไม่เหมาะสมหรือยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะยาช่วยทำให้ร่างกายขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ เป็นต้น
นอกจากคิดค้นยาสำหรับกินเพื่อรักษาโรคได้มากมายแล้ว ยังมียาฉีดอินซูลิน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีปัญหาตับอ่อน ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ หรือใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลด้วยยาชนิดอื่น ซึ่งข้อดียาฉีดอินซูลินคือควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่ข้อเสียคือต้องฉีดยา และบางกรณีมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำ
แน่นอนว่าการเลือกใช้ยาขึ้นกับแพทย์ผู้รักษา ซึ่งต้องพิจารณาตามความรุนแรงของโรค การทำงานของตับไตของผู้ป่วย รวมถึงโรคร่วมต่างๆ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากที่เมื่อแรกป่วยก็ใช้ยา 1-2 รายการ ต่อมาจำนวนยาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโรคมีความรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะเมื่อกินยาไปแล้ว แต่ก็ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกินยาบ้าง ลืมกินยาบ้าง หรือบางรายไม่ลืม แต่ตั้งใจไม่กิน เพราะกลัวว่าถ้ากินยาแล้วจะทำให้ตับไตเสียหาย จึงทำให้ควบคุมโรคไม่ได้
แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เริ่มต้นมียา 2-3 รายการ แต่ต่อมาจำนวนยาลดลง เหลือแค่ตัวเดียวเท่านั้น เพราะว่าเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จ ลดอาหารหวานๆ ลดการกินแป้งแล้วเพิ่มผักและเส้นใย แต่ที่สำคัญที่สุดคือออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ร่างกายใช้พลังงานส่วนเกินหมดไป
เรื่องที่อยากย้ำและปรับความเข้าใจเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดคือผู้ป่วยต้องกินยาให้ถูกต้อง และสม่ำเสมอ และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดี แต่ถ้าผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมโรคได้ เพราะไม่ยอมกินยา และไม่ปรับพฤติกรรม จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไตวาย ตามีปัญหาจนอาจมองไม่เห็น เป็นแผลรักษายาก จนต้องตัดอวัยวะที่เป็นแผลเรื้อรังทิ้ง เป็นต้น
ขอย้ำว่า โรคเบาหวานรักษาได้ และในปัจจุบันมียารักษาที่มีประสิทธิภาพดีมากๆ เพียงแค่เราต้องเข้าใจโรค ใช้ยาให้ถูกต้อง ปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกิน และหมั่นออกกำลังกาย เราก็เอาชนะและควบคุมโรคนี้ได้ แต่ที่สำคัญคือเราต้องตรวจคัดกรองเบาหวาน เพื่อให้รู้แต่เนินๆ ว่าเราเป็นโรคนี้หรือไม่ หากรู้เร็ว ก็รักษาให้หายได้ไม่ยาก
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน หรือเรื่องยา โปรดสอบถามที่ line @guruya ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี