ในภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง เทคโนโลยีที่ก้าวไกล มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนวัยรุ่น และวัยทำงานเป็นอันมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เนต ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทำให้พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่นอนน้อยลง หรือนอนผิดเวลา นอนกลางวันและตื่นกลางคืน บางคนกินอาหารมื้อดึก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นอันมาก
ข้อมูลจาก รศ.ภญ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภก.พินิต ชินสร้อย เปิดเผยว่า ตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันออกนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ต้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก ความร้อน ความชุ่มชื้น ความเย็นจากภายนอกในแต่ละช่วงเวลามีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกาย การปรับเปลี่ยนเวลามีผลต่อสุขภาพอย่างยิ่ง มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่า คนที่นอนกลางวัน ตื่นกลางคืนมักเป็นโรคอ้วนและมีภูมิต้านทานต่ำ จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สุขภาพของกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ปัจจุบันต้องเผชิญต่อความเสี่ยงต่อโรคที่จะตามมา หลายคนมีเริ่มมีอาการขาดสมดุลร่างกาย เช่น เป็นหวัดบ่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์สับสน วุ่นวาย ทำงานไม่ได้ทั้งที่อยากทำ อ่านหนังสือไม่ได้ ขาดสมาธิในการจัดการปัญหา เป็นต้น อาการเหล่านี้เมื่อเกิดในระยะแรกเริ่ม อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถึงขั้นที่ต้องใช้ยารักษา แต่หากทิ้งไว้ไม่สามารถปรับพฤติกรรม หรือไม่สามารถแก้ไขต้นเหตุเหล่านี้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จะทำให้เป็นโรคได้ในที่สุด
ยาหอม เป็นชื่อกลุ่มยาตำรับที่ใช้กันมานานมีจุดประสงค์หลักในการปรับสมดุลธาตุ เริ่มจากธาตุลมที่เรียกชื่อว่า “ยาหอม” เกิดเนื่องจากในตำรับมีส่วนประกอบหลักมาจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหลายชนิดเช่นเกสรดอกไม้ จำพวกมะลิ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวงดอกจำปา กระดังงา ลำดวน ลำเจียก และของหอมอื่นๆได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กฤษณา ขอนดอก กระลำพักเปลือกสมุลแว้ง เปราะหอม ชะลูด หญ้าฝรั่น เทียน และโกฐรวมทั้งจันทน์แดง จันทน์เทศ จันทน์ชะมด เป็นต้น ตัวยาที่ใส่ไปจำนวนมาก บางตำรับมีมากถึง 56 ชนิด ล้วนมีสรรพคุณสำคัญต่อร่างกายทั้งสิ้น ยาหอมใช้ในวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่ก่อนเกิดจนวันตาย เริ่มตั้งแต่ตำรับยาหอมสำหรับบำรุงโลหิตระดูสตรี เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ สามารถตั้งครรภ์ได้บางตำรับตั้งขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพของสตรีมีครรภ์ เรียกว่ายาหอมครรภ์รักษา แต่ในกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญ ยาหอมยังใช้ในวัยเจริญพันธุ์เพื่อป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับลม ใช้ในช่วงพักฟื้น เพื่อช่วยให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติ ตำรับยาหอมแก้ลมวิงเวียนสำหรับผู้สูงอายุ และแก้โรคลมอีกหลายชนิด ยาหอมบางตำรับใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะได้สั่งเสียลูกหลาน จึงนับได้ว่ายาหอมเป็นยาที่สำคัญของชีวิต จากปัจจัยปัญหาข้างต้นของวัยรุ่น และวัยทำงาน การใช้ยาหอมปรับสมดุล น่าจะเป็นการปรับการทำงานของร่างกายแบบองค์รวมที่จะส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ป้องกันโรคที่อาจเกิดได้
วัยรุ่นควรใช้ยาหอมได้นานหรือไม่
เนื่องจากยาหอมเป็นยาปรับสมดุล ทำให้ร่างกายอุ่นพอดี การกินติดต่อกัน อาจมีผลกระทบต่อธาตุไฟดังนั้น ในวัยที่มีอายุ ระหว่าง 16-32 ปี เป็นวัยที่ต้องการพลังงาน ธาตุไฟต้องทำงานมากกว่าวัยอื่น จึงควรกินยาหอมเมื่อมีอาการและต่อเนื่องกันประมาณ ไม่เกิน 2 สัปดาห์หากอาการหายแล้วให้หยุดยา
ทำไม ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย กินยาหอมได้นาน
สำหรับคนที่วัยมากกว่า 32 ปี จัดเป็นปัจฉิมวัยซึ่งมีการทำงานของธาตุลมไม่ดีนัก มักมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับธาตุลม โดยเฉพาะวัยสูงอายุ มากกว่า 60 ปี การกินยาหอม วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้า และก่อนนอน จะช่วยให้ภาวะของลมดีขึ้น ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการใช้ยาหอม
1.การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประทานขณะกำลังอุ่นเหมือนกับวิธีการเดิม เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ผ่านประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
2.ควรใช้ตามขนาดที่แนะนำ การกินเกินขนาดที่แนะนำ ไม่เกิดอาการพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลอาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้
3.ยาเม็ดชนิดอม หรือยาผง ละลายน้ำดื่ม อาจใช้ในปริมาณน้อยกว่าที่แนะนำได้ เนื่องจากมีการดูดซึมในช่องปาก ออกฤทธิ์ได้ดี และเร็วกว่าการกลืนแบบเม็ด
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
ยาหอมไม่ใช่ยาวิเศษรักษาโรคได้ทุกโรค แต่เป็นยาปรับสมดุลโดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำ และไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวม ดังนั้น การใช้ยาหอมจะไม่ได้ให้ผลดีแบบทันทีทันควัน แต่จะทำให้สมดุลที่เบี่ยงเบนไปค่อยๆ ปรับกลับสู่สภาพเดิม
ข้อควรระวังทั่วไปของยาหอม
1.ระวังในคนที่เคยมีประวัติแพ้เกสรดอกไม้
2.ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาหอมติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน เพราะจะเสริมฤทธิ์ ทำให้เลือดหยุดไหลยาก
3.กรณีที่ใช้ยาหอมติดต่อกัน นานเกิน 1 เดือนหากต้องได้รับการผ่าตัด ต้องแจ้งแพทย์ เพื่อหยุดการใช้ยา
น้ำกระสายยากับยาหอม
การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดควรเลือกชนิดของยาหอมให้ถูกกับโรค ขนาดที่ใช้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตัว และหากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมและใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ ดังนี้
l แก้ลมวิงเวียน ยาหอมทุกชนิด ใช้ น้ำดอกไม้ น้ำสุก
l แก้ลมบาดทะจิต (หงุดหงิด กระวนกระวาย) ยาหอมอินทจักร ละลายน้ำดอกมะลิ
l แก้คลื่นเหียนอาเจียน ยาหอมอินทจักร หรือยาหอมนวโกฐ ละลายน้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม น้ำสุก
l แก้ลมจุกเสียด ยาหอมทุกชนิด น้ำขิงต้ม
l แก้ลมปลายไข้ ยาหอมนวโกฐ ละลายน้ำต้มก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด หรือละลายน้ำสุก
l แก้ท้องเสีย น้ำต้มใบทับทิม ยาหอมร้อนทุกชนิด ละลายน้ำต้มเหง้ากระทือเผาไฟ
ยาหอมไม่ใช่แก่คร่ำครึ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่ายาหอมไม่ใช่แค่ยาคนแก่ มียาหอมเพียงตำรับเดียวในบ้าน ก็เสริมสุขภาพให้ดีทั้งครอบครัวได้ การใช้ยาหอมปรับสมดุล เป็นการป้องกันโรค ลดการใช้ยา รักษาสุขภาพให้เป็นปกติ และยังเป็นการสืบเจตนารมณ์ของรุ่นปู่ย่าตายาย ที่อุตส่าห์สั่งสมความรู้ไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานไทย สำหรับผู้สนใจข้อมูลสุขภาพและการใช้ยาของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สามารถติดตามได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge.php
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี