ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมให้เกิดความรักและภาคภูมิใจที่จะสืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญา และสนันสนุนต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะเชิงช่าง พัฒนาชิ้นงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรม พร้อมเตรียมจัดกิจกรรม “New Young Craft 2025” เชิดชูคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักคราฟต์ สร้างสรรค์ผลงานควบคู่กับสืบสานหัตถกรรมไทยในดือนสิงหาคม นี้
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า SACIT มุ่งเน้นการผลักดันด้านการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจฐานราก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยไม่ให้สูญหาย จึงให้ความสำคัญกับการดำรงรักษาไว้ซึ่งทักษะองค์ความรู้เฉพาะทางด้านงานหัตถศิลป์ ทั้งในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง โดยเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์และสืบทอดงานหัตถกรรมไทยตั้งแต่ระดับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทศิลปหัตถกรรมและคนรุ่นใหม่ ซึ่ง SACIT ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีต่อยอดองค์ความรู้ การนำเอาทักษะเชิงช่างมาผสมผสานการออกแบบที่ร่วมสมัย จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ ทันสมัยแต่ยังคงสะท้อนภูมิปัญญาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล และสามารถตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน รวมถึงมีเวทีการตลาดเพื่อนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ และต่อยอดสู่โอกาสเชิงพาณิชย์
อังคาร อุปนันท์
“SACIT ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ ที่ได้นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิม มาปรับประยุกต์ต่อยอดในงานศิลปหัตถกรรมไทย โดยในปี 2568 นี้ SACIT เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้โครงการเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่ หรือ “New Young Craft 2025” ปีที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพทางความคิดและทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์งานในรูปแบบที่มีความร่วมสมัย พร้อมผลักดันและส่งเสริมการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนากระบวนการผลิตผลงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย นำไปสู่การต่อยอดการสร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.อนุชา กล่าว
ทายาทศิลปหัตถกรรม ปี 2558 ประเภทเครื่องเงินยัดลาย นายอังคาร อุปนันท์ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก SACIT โดยสืบทอดมรดกแห่งภูมิปัญญาเครื่องเงินล้านนาและนำเอาทักษะองค์ความรู้จากผู้เป็นบิดา ครูพงษ์มิต อุปนันท์ ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ปี 2566 มาต่อยอดและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนคุณค่าเพื่อให้คงอยู่สืบต่อไป
แบรนด์อังศาเครื่องประดับเงิน ก่อตั้งโดย อังคาร อุปนันท์
นายอังคาร อุปนันท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์อังศาเครื่องประดับเงิน กล่าวว่า “เครื่องเงินยัดลาย” ถือเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สืบทอดจากภูมิปัญญาชุมชนเครื่องเงินบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีขั้นตอนการสร้างสรรค์ที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องอาศัยฝีมือและทักษะเชิงช่างชั้นสูง โดยการยัดลายเป็นการนำเส้นเงินขนาดเล็กเท่าเส้นผมมาพันเกลียว ขด ดัดและซ้อนทับกันหลายชั้นอย่างประณีต จนเกิดเป็นลวดลายและรูปทรงที่วิจิตรบรรจง แล้วนำไปสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับเงินที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัด ต่างหู สร้อยคอ กำไล หรือเข็มขัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันช่างฝีมือที่มีความชำนาญด้านเครื่องเงินยัดลายเริ่มมีจำนวนลดลงอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องอนุรักษ์และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป นอกจากการสืบทอดองค์ความรู้และทักษะเชิงช่างแล้ว ยังมีการพัฒนาต่อยอดผลงานให้เข้าถึงกลุ่มคน Gen ใหม่ ด้วยดีไซน์ที่มีความร่วมสมัย เพิ่มลูกเล่นให้ผลงานมีความน่าสนใจ และสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน
แบรนด์อังศาเครื่องประดับเงิน ก่อตั้งโดย อังคาร อุปนันท์
อีกทั้ง SACIT ยังให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่เห็นถึงคุณค่าและมีใจรักในงานคราฟต์อย่าง ทยิดา อุนบูรณะวรรณ หนึ่งใน 10 ผู้มีผลงานผ่านการคัดสรรเป็น “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” ปี 2567 ประเภทผ้าบาติก (New Young Craft 2024) ผู้ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานกลุ่มหัตถกรรมผ้าบาติกได้อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์
ทยิดา อุนบูรณะวรรณ
นางสาวทยิดา อุนบูรณะวรรณ กล่าวว่า ชื่นชอบการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เกิดความหลงใหลงานผ้าบาติกอย่างมาก เพราะเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้เทคนิค “กั้นเทียน เขียนลาย” ทำให้ได้สร้างสรรค์ลวดลายเองตามจินตนาการของตัวเอง จึงได้นำภูมิปัญญาผลงานหัตถกรรมประเภทผ้าบาติกมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ที่สามารถใช้สอยได้จริงในชีวิตประจำวัน กลายเป็นแบรนด์มารียองสยาม (Marionsiam) ผสมผสานความโมเดิร์นและไสฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แต่ยังคงสะท้อนเอกลักษณ์ผ้าบาติกผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า Tote Bag หรืออื่นๆ อีกทั้งยังรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการ “New Young Craft 2024” ของ SACIT ซึ่งนอกจากได้รับโอกาสในการจัดแสดงผลงานหัตถกรรม ในงานสำคัญอย่าง “Crafts Bangkok 2024” แล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสพิเศษที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ของคนที่มีใจรักงานคราฟต์ ได้ร่วมกันถ่ายทอดทักษะการสร้างสรรค์งาน และเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาฝีมือ ผ่านการสนับสนุนจาก SACIT ซึ่งเป็นผู้นำเอาโซลูชั่นการพัฒนากระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์ มาร่วมแก้ปัญหาที่อาจพบจากการทำงาน อาทิ กระบวนการย้อมสีผ้าบาติกให้ติดทน เป็นต้น
ติดตามข้อมูลข่าวสารของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ได้ที่เว็บไซต์ https://sacit.or.th/th สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร กิจกรรม หรือสมัครเข้าร่วมโครงการของ SACIT ได้ทาง SACIT Facebook OfficialPage https://www.facebook.com/sacitofficial หรืออัปเดตงานคราฟต์ต่างๆ ได้ทาง SACIT TikTok Official Account https://www.tiktok.com/@sacit_official
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี