พระปรางค์ในปัจจุบัน
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯนั้นจุดเด่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกคือพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระปรางค์องค์เดียว ที่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ประกอบด้วยปรางค์ประธาน และปรางค์บริวารอีก ๔ ปรางค์ เดิมสูง ๑๖ เมตร หรือ ๘ วา สร้างขึ้นแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระราชประสงค์จะเสริมสร้างให้สูงใหญ่ขึ้นเป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร และทรงเห็นว่าพระปรางค์นี้องค์ดั้งเดิมที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นเป็นพระปรางค์ที่มีความสำคัญสืบเนื่องมานานดังนั้น การสร้างพระปรางค์องค์ใหม่ครอบทับองค์ดั้งเดิมที่มีความสำคัญ จึงเป็นการสืบต่อความเป็นศูนย์กลางความศรัทธาดังกล่าวให้มีต่อเนื่องไป แต่ทำได้เพียงกะที่ขุดรากเตรียมไว้ พระองค์ก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๓๘๕ จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ใช้เวลารวมกว่า ๙ ปี
การออกแบบได้ยึดตาม “คติไตรภูมิ” สมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่างสมบูรณ์ เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปัตยกรรมจึงเกี่ยวข้องกับคติจักรพรรดิราชอยู่บริเวณ เรือนธาตุ (ซุ้มจระนำ) ทั้ง ๔ ทิศ ของพระปรางค์บริวาร ประดับประติมากรรมรูปเทวดาทรงช้าง มีการตีความว่าสัญลักษณ์นี้หมายถึงพระเจ้าจักรพรรดิราชทรงช้าง เพื่อแสดงความเป็นมหาราชแห่งจักรวาล ที่ออกแบบผังวัดอรุณโดยจำลองมาจากโครงสร้างและแผนผังจักรวาลตามคติไตรภูมิ เพราะพระอินทร์คือผู้ทรงช้างเอราวัณ พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่องค์พระปรางค์นี้ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เป็นจำนวนมหาศาล มีการประดับตกแต่งด้วย กินนรกินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ บริวารของจักรวาล พระปรางค์วัดอรุณฯองค์ปัจจุบันนี้ มีความสูงจากฐานถึงยอด ๘๑.๘๔ เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ รวมถึงการเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในไทยและของโลก
แบบร่างพระปรางค์
พระปรางค์ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลักๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุด้วยความกว้างราว ๒๓๔ เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทองและมงกุฎ
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมครั้งที่ ๑/๒๕๖๘ เสนอ “พระปรางค์ วัดอรุณฯ” สู่บัญชีชั่วคราว เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้นำเสนอเอกสารไปยังศูนย์มรดกโลกเพื่อให้รับรองบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อขอบรรจุเข้าสู่บัญชีชั่วคราว (Tentative List)ในชื่อ “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (Phra Prang of Wat ArunRatchawararam : The Masterpiece of KrungRattanakosin)” ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาประเภทพระปรางค์ที่มีความโดดเด่นที่สุด เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย คุณสมบัติที่เลือกนำเสนอตรงตามเกณฑ์มรดกโลกข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ คือ เป็นผลงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา และพัฒนามาเป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์ที่มีเพียงหนึ่งเดียวของรัตนโกสินทร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี