ทำเนียบขาวสะเทือนจากเหตุ “กรุ๊ปแชท” หลุด มีการเชิญสื่อมวลชนซึ่งเป็นคนนอกเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยเรื่องแผนปฏิบัติการทางทหารระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ที่ควรจะเป็นความลับขั้นสุดยอด จนรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหละหลวมเรื่องการป้องกันข้อมูลลับ
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเจฟฟรีย์ โกลด์เบิร์ก บรรณาธิการบริหารของสื่อนิตยสาร The Atlantic เปิดเผยผ่านบทความของเขาที่มีชื่อว่า “รัฐบาลทรัมป์พลาดส่งข้อความแผนทำสงครามมาให้ผม” (The Trump Administration Accidentally Texted Me Its War Plans) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยเล่าว่า เขาถููกเชิญเข้าร่วมกลุ่มสนทนาในกลุ่มสนทนาชื่อ Houthi PC small group ผ่านแอปพลิเคชั่นส่งข้อความ Signal อย่างไม่คาดหมาย โดยบัญชีที่ใช้ชื่อของไมเคิล วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หรือ 2 วันก่อนหน้าที่สหรัฐฯ จะเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกลุ่มฮูตีในเยเมน ในกลุ่มสนทนาดังกล่าว ประกอบด้วย บัญชีที่ใช้ชื่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดด้านความมั่นคงหลายคนในรัฐบาลทรัมป์ ตั้งแต่รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์, มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ, จอห์น แรตคลิฟฟ์ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติ หรือซีไอเอ, ทัลซี แกบบาร์ดผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ, สก็อต เบสเซนท์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ, ซูซี ไวล์ส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ อีกหลายคน แต่ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้อยู่ในกรุ๊ปแชทด้วย
การได้เข้าร่วมกลุ่มสนทนาดังกล่าว ทำให้โกลด์เบิร์กได้เห็น ไมเคิล วอลทซ์ มอบหมายภารกิจให้แก่ อเล็กซ์ หว่อง รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ จัดตั้งทีมที่มีชื่อว่า tiger team ทำหน้าที่ประสานปฏิบัติการโจมตีฮูตี และไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าสหรัฐฯ เริ่มถล่มฮูตีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้พิมพ์ข้อความแชทลงในกลุ่มสนทนาดังกล่าว เปิดแผนปฏิบัติการถล่มฮูตีอย่างละเอียด ซึ่งมีทั้งเป้าหมายต่างๆ ของฮูตีที่จะถูกโจมตี อาวุธที่สหรัฐฯ จะใช้ และช่วงเวลาที่จะลงมือ โกลด์เบิร์กไม่ได้โต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับแชทต่างๆ ที่มีการพูดคุยกันในกลุ่ม นอกจากอ่านและเก็บข้อมูล ก่อนจะออกจากกรุ๊ปแชทเองอย่างเงียบๆ โดยที่ไม่มีใครรู้
แล้วเราได้รู้อะไรบ้าง จากเหตุการณ์นี้
อะไรคือ Signal
Signal เป็นแอปพลิเคชั่นส่งข้อความและโทรศัพท์ที่เน้นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้การเข้ารหัสแบบต้นทางถึงปลายทาง(end-to-end encryption) ซึ่งหมายความว่ามีเพียงผู้ส่งและผู้รับเท่านั้นที่สามารถอ่านข้อความหรือฟังการโทรได้ แอปนี้เก็บข้อมูลผู้ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยส่งข้อความ, ข้อความเสียง, รูปภาพ, วีดีโอ และไฟล์ต่างๆ ได้ฟรี โทรเสียงและวีดีโอคอลได้ฟรี สามารถสร้างกลุ่มสนทนาได้ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในแอปส่งข้อความที่ปลอดภัยที่สุด
เจดี แวนซ์ ไม่เชื่อใจทรัมป์
ในส่วนของรายละเอียดปฏิบัติการโจมตี โกลด์เบิร์ก บอกว่า บัญชีที่ใช้ชื่อว่าเจดี แวนซ์ บอกว่าเรากำลังทำพลาด เพราะแวนซ์เห็นว่า การโจมตีกลุ่มฮูตีที่จ้องเล่นงานเรือพาณิชย์ในคลองสุเอซและทะเลแดงนั้น จะส่งผลดีต่อยุโรปมากกว่า เนื่องจากเรือของยุโรปใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรมากถึงร้อยละ 40 แต่มีเรือของสหรัฐฯ ใช้เส้นทางเดินเรือนี้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น แวนซ์คิดว่าทรัมป์น่าจะตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องนี้ และเชื่อว่าหลังจากนี้ อาจได้เห็นราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งทะยานอย่างมาก โกลด์เบิร์กบอกด้วยว่า แวนซ์พร้อมที่จะเห็นชอบกับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ แต่ส่วนตัวแล้ว เขาอยากให้เลื่อนการโจมตีออกไปอีก 1 เดือนมากกว่า
อย่างไรก็ดี โกลด์เบิร์กได้รับข้อความจากโฆษกของแวนซ์ในภายหลังที่ยืนยันว่าทรัมป์และแวนซ์หารือถึงเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน และเห็นพ้องต้องกันทุกประการ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีในประเด็นด้านต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ดิ๊ก เชนีย์ ก็เคยขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เกี่ยวกับเรื่องสงครามอิรัก ขณะที่ โจ ไบเดน ก็เชื่อว่าการที่ บารัค โอบามา สั่งให้ปฏิบัติการลับเพื่อสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน นั้นสุ่มเสี่ยงเกินไป
ต่อว่ายุโรป เป็นพวก ‘นั่งฟรี’
ตามความเห็นของโกลด์เบิร์ก เจดี แวนซ์ ยังคงดูไม่สบอารมณ์นักกับประเด็นที่ว่า สหรัฐฯ ควรที่จะเปิดฉากโจมตีกลุ่มฮูตีในเยเมนหรือไม่ เขาแชทกับเฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมว่า ถ้าคิดว่าควรเดินหน้าก็ลุยเลย แต่เขาไม่ชอบที่เห็นยุโรปได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อีกแล้ว ซึ่งเฮกเซธก็บอกว่า เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้
สมาชิกในกรุ๊ปแชทอีกคน ที่ใช้ชื่อว่า SM บอกว่าหลังจากโจมตีกลุ่มฮูตีแล้ว สหรัฐฯ ควรทำให้อียิปต์และยุโรปเห็นว่า ต้องตอบแทนสหรัฐฯ ในเรื่องนี้เพราะถ้าสหรัฐฯ มีส่วนช่วยให้การเดินเรือในทะเลแดงกลับมาเสรีและปลอดภัยอีกครั้ง โดยที่ต้องลงทุนไปมหาศาลแล้ว สหรัฐฯ ก็ควรที่จะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้กลับมาคืนมาบ้าง
ผิดพลาด เลินเล่อร้ายแรง
โกลด์เบิร์กยอมรับว่า ตกใจมากที่ได้เห็นเเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งข้อความหากันว่ามีแผนจะโจมตีข้าศึกศัตรูอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงของระบบการสื่อสารที่ควรจะเป็นความลับขั้นสุดยอด แต่กลับมีการส่งคำเชิญให้คนภายนอกเข้าร่วมกลุ่มในตอนแรกที่โกลด์เบิร์กเห็นข้อมูลเหล่านี้เขารู้สึกเสียวสันหลังทันที เพราะถ้าหากข้อมูลเหล่านี้หลุดรอดไปยังประเทศที่เป็นคู่แข่งกับสหรัฐฯ แน่นอนว่าจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อกองทัพและทหารสหรัฐฯ การที่กรุ๊ปแชทของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาล ที่มีแต่บุคคลตำแหน่งสำคัญ และล้วนเป็นคนวงในที่ใกล้ชิดกับทรัมป์ทั้งนั้นหลุดออกไป มีการเชิญคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้เข้าไปอยู่ในกรุ๊ปแชทไปส่องดูได้ว่าคนในรัฐบาลเคุยอะไรกันบ้าง ถือเป็นความผิดพลาดด้านการเก็บรักษาข้อมูลที่ร้ายแรง
นอกจากนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ ก็ระบุไว้ด้วยกว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เวลาที่จะสื่อสารกัน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง จะต้องพูดคุยกันในห้องทำงาน หรือห้องประชุมในอาคารของรัฐบาล เช่น ทำเนียบขาว หรือกระทรวงต่างๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วในเรื่องของความปลอดภัย ว่าไม่มีการติดตั้งเครื่องดักฟังอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อมูลรั่วไหล หากเป็นการพูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งอีเมลหรือการส่งข้อความ ก็จะต้องทำผ่านแอปพลิเคชั่นที่ทำเนียบขาวให้การรับรองแล้วเท่านั้น จะใช้แอปพลิเคชั่นส่งข้อความภายนอก อย่างไลน์ หรือวอทส์แอปส่งข้อความหากันเองไม่ได้เด็ดขาด หากจะใช้อีเมล ก็จะต้องใช้อีเมลที่เป็นอีเมลทางการของทำเนียบขาวเท่านั้น เพราะจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนามากๆ
ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง
หลังจากเป็นข่าว คนในทำเนียบขาวพยายามออกมาลดกระแสความไม่พอใจและยืนยันว่าไม่มีข้อมูลลับใดๆ หลุดออกไประหว่างการพูดคุยกันในกรุ๊ปแชท เฮกเซธปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ส่งข้อความเผยข้อมูลลับแผนโจมตีฮูตีแต่อย่างใด แถมยังพยายามดิสเครดิตโกลด์เบิร์ก ว่าเป็นนักข่าวที่ปลิ้นปล้อน และเขียนข่าวหลอกลวง เช่นเดียวกับทรัมป์ ที่แม้ไม่ได้อยู่ในกรุ๊ปแชทแต่ก็ยืนยันว่าเขาไม่รู้เรื่องนี้ แม้ข้อความในกรุ๊ปแชทจะเป็นของจริง แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องราวเสียหายใหญ่โต สำหรับเขาแล้ว มองว่านี่เป็นแค่เรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีใครออกมาขอโทษ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่ามัน “ใหญ่โต” และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่คิด เพราะมันสะท้อนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีปัญหาในเรื่องความรัดกุมของการปกป้องข้อมูลลับแบบนี้บ่อยครั้ง อย่างตอนที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็เคยโดนวิจารณ์เรื่องเอาข้อมูลลับกลับมาที่บ้าน หรือ ฮิลลารี คลินตัน ก็เคยมีข่าวว่าใช้อีเมลส่วนตัว ส่งข้อความ ส่งเอกสาร สมัยที่เธอเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งก็ทำให้เธอถูกโจมตีว่ามีความหละหลวมและทำให้เกิดความเสี่ยงที่ข้อมูลสำคัญจะรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอก และพรรครีพับลิกันก็หยิบยกเรื่องนี้มาโจมตีเดโมแครตตลอด ว่าไม่ใส่ใจปกปิดข้อมูลลับ แต่ครั้งนี้กลับใช้กรุ๊ปแชทในการส่งข้อมูลสำคัญ แล้วรั่วไหลถึงคนภายนอกเสียเอง
แน่นอนว่าเรื่องนี้ กำลังทำให้รัฐบาลทรัมป์ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างหนักมีการเรียกร้องจากกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสโดยเฉพาะ สส. ของพรรคเดโมแครต บอกว่า ต้องมีใครสักคนลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ไมเคิล วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ คนสนิทของทรัมป์ ที่ดึงนักข่าวที่เป็นคนนอกเข้ากลุ่มแชทสำคัญแบบไม่ดูตาม้าตาเรือส่วน สส. ของพรรครีพับลิกันหลายคนก็บอกว่าเป็นห่วงว่าเรื่องที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนสูญเสียความมั่นใจในเรื่องการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งความผิดพลาดในเรื่องนี้ อาจกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการหรือส่งต่อข้อมูลที่อ่อนไหวและมีความสำคัญ
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี