ผจก.เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผยเฟสสุดท้ายเก็บภาษีหวาน คนไทย วัยรุ่นและวัยทำงานสุขภาพดีขึ้นชัดเจน ปีล่าสุดลดลงเหลือ 500 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ถือว่ามีอัตราการบริโภคความหวานลดลงมากที่สุด แต่ยังห่วงเครื่องดื่มชูกำลังคงสูตรเดิมและปรับราคาขึ้น
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึง การจัดเก็บภาษีความหวานที่เข้าสู่ระยะที่ 4 หรือเฟสสุดท้ายซึ่งเป็นระยะที่ภาษีความหวานถูกจัดเก็บเต็มขั้นว่า จากตัวเลขคนไทยบริโภคน้ำตาลมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำถึง 2 เท่า จนทำให้ป่วย และเสียชีวิตจากการบริโภคความหวานมากเกินความจำเป็นของร่างกาย จนก่อเกิดเป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต สูงถึง 70% จึงเป็นที่มาของการริเริ่มจัดเก็บ “ภาษีความหวาน” ซึ่งการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตจากค่าความหวาน หรือปริมาณความหวาน จากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และผู้นำเข้าเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้ โดยปัจจุบันการจัดเก็บภาษี เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว พบความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน โดยในปี 2566 ค่าเฉลี่ยการบริโภคหวานของคนไทยอยู่ที่ 305 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน จากปี 2561 อยู่ที่ 370.9 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งกลุ่มที่ลดอย่างมีนัยคือ วัยรุ่นจนถึงคนทำงานตอนต้น อายุระหว่าง 15-29 ปี จากปีแรก ๆ ที่มีค่าเฉลี่ยการบริโภคความหวานอยู่ที่ 627 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ปีล่าสุดลดลงเหลือ 500 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งถือว่ามีอัตราการบริโภคความหวานลดลงมากที่สุด
“โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ จากการจัดครั้งล่าสุด รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานตอนต้นที่มีการบริโภคลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
ทั้งนี้ โครงการบูรณาการเครือข่ายอ่อนหวานอาหารปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริโภคน้ำตาลอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ พบว่า ภาคธุรกิจมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการเก็บภาษีความหวานเกิดขึ้น นอกจากนี้ รายงานวิจัยไม่กินหวาน ยังพบว่า ภาษีความหวานที่จัดเก็บอยู่ในขณะนี้นั้น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการบริโภคน้ำตาลของทั้งประเทศ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 ของทั้งหมด ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลระบุว่า การส่งน้ำตาลเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีแนวโน้มลดลงหลังภาคอุตสาหกรรมธุรกิจเครื่องดื่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับภาษีความหวานที่มีการขยับขึ้น
นอกจากการลดความหวานที่เติมลงในเครื่องดื่ม บางส่วนมีการนำสารให้ความหวานทดแทนมาใช้ และบางส่วนไม่ได้มีการปรับสูตรลดความหวานลง แต่เปลี่ยนมาลดขนาดบรรจุลงแทน เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมได้ เครื่องดื่มชูกำลังมีการปรับสูตรเพื่อรองรับมาตรการภาษีตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ส่วนน้ำสีชนิดต่าง ๆ ก็มีการปรับสูตรเช่นกัน แต่ยังมีเครื่องดื่มบางชนิดที่ยังคงสูตรเดิมและมีการปรับราคาขึ้น ขณะที่น้ำหวานเข้มข้นแบบผสมชงดื่มจะอยู่นอกเหนือมาตรการภาษีความหวาน กลับมีการปรับราคาสูงขึ้นเท่าตัวนับตั้งแต่มีภาษีความหวานเกิดขึ้น
“ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความสนใจในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่มีมากขึ้น ขณะที่ความตระหนักถึงเครื่องดื่มที่มีรสหวานก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากนี้ไป สิ่งที่ภาครัฐและองค์กรด้านสุขภาพควรทำคือการผลักดันให้เกิดการบริโภคน้ำตาลในระดับที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี