สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตรสนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า “นางแก้ว” อันหมายถึงหญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า “ทูลกระหม่อมน้อย”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2520 นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า โดยยังทรงพระอิสริยยศกรมสมเด็จพระ และ สยามบรมราชกุมารี ตามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ
พระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งทรงนำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก
ในขณะที่ทรงพระเยาว์ เครื่องดนตรีที่ทรงสนพระทัยนั้น ได้แก่ ระนาดเอกและซอสามสายซึ่งพระองค์ทรงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจัง เมื่อปีพ.ศ.2528 หลังจากการเสด็จฯทรงดนตรีไทยณ บ้านปลายเนิน ซึ่งเป็นวังของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยมี สิริชัยชาญ พักจำรูญ เป็นพระอาจารย์ พระองค์ทรงเริ่มเรียนตั้งแต่การจับไม้ระนาด การตีระนาดแบบต่างๆ และท่าที่ประทับขณะทรงระนาด และทรงเริ่มเรียนการตีระนาดตามแบบแผนโบราณ กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยเพลงต้นเพลงฉิ่งสามชั้น แล้วจึงทรงต่อเพลงอื่นๆ ตามมา ทรงทำการบ้านด้วยการไล่ระนาดทุกเช้า หลังจากบรรทมตื่นภายในห้องพระบรรทม จนกระทั่งพุทธศักราช 2529 พระองค์จึงทรงบรรเลงระนาดเอกร่วมกับครูอาวุโสของวงการดนตรีไทยหลายท่านต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเพลงที่ทรงบรรเลง คือ เพลงนกขมิ้น (เถา) นอกจากดนตรีไทยแล้วพระองค์ยังทรงดนตรีสากลด้วย โดยทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา แต่ได้ทรงเลิกเรียนหลังจากนั้น 2 ปี และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนสามารถทรงทรัมเปตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต
ด้านอักษรศาสตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงใฝ่เรียนรู้วิทยาการหลากสาขา การทรงรู้รอบกว้างไกลด้านจีนวิทยาเป็นที่ประจักษ์แจ้งชัด เมื่อผสานกับการทรงมีพรสวรรค์ในการประพันธ์และพระวิริยะหมั่นฝึกฝนการเขียน ก่อเกิดเป็นรัตนสารด้านจีนวิทยาจำนวนมาก ทั้งสารคดีเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีน พระราชนิพนธ์แปลบทกวีนิพนธ์จีนนวนิยาย เรื่องสั้น บทละครพูด ความเรียงร้อยแก้ว อาทิ บทละครพูดร้านน้ำชาผีเสื้อ, เมฆเหินน้ำไหล,หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า, ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลับลี้ริมฝั่งน้ำ,นารีนครา, ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน, รอยยิ้มของน้ำตาและหัวใจ, เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร,มุ่งไกลในรอยทราย ฯลฯ มรกต พระราชนิพนธ์แปลเล่มล่าสุด รวมทั้งสารคดีวิชาการ ปาฐกถาทรงบรรยาย และอื่นๆ รวมทั้งพระราชนิพนธ์ เกล็ดหิมะในสายหมอก ลาวใกล้บ้าน ทัศนจากอินเดีย มนต์รักทะเลใต้ ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ) เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือในพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ต่างๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์
นอกจากพระนาม “สิรินธร” แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ได้แก่ “ก้อนหินก้อนกรวด” เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึงพระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหินหมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น “ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ทรงใช้ครั้งเดียวขณะประพันธ์บทความ “เรื่องจากเมืองอิสราเอล” เมื่อปีพ.ศ.2520 ขณะที่พระนามแฝง “แว่นแก้ว” เป็นชื่อที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง ทรงมีรับสั่งว่า“ชื่อแว่นแก้วนี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็กๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อแว่นแก้ว” โดยพระนามแฝง “แว่นแก้ว” นี้พระองค์เริ่มใช้เมื่อปีพุทธศักราช 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขนส่วนพระนามแฝง “หนูน้อย” ทรงมีรับสั่งว่า “เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่า น้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย” โดยพระองค์ทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปีจิตรลดา เมื่อปีพุทธศักราช 2523 และ พระนามแฝง “บันดาล” ทรงมีรับสั่งว่า “ใช้ว่าบันดาล เพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย” ซึ่งพระองค์ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ทรงทำให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการเมื่อปีพุทธศักราช 2526 นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงเป็นจำนวนมาก โดยบทเพลงที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ เพลง ส้มตำ รวมทั้งยังทรงประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ เพลง รัก และ เพลง เมนูไข่
พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาจัดแสดงใน “นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์” มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2550 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ร่วมตามรอยเสด็จพระราชดำเนินและชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นความรู้แก่นิสิต นักศึกษา เริ่มตั้งแต่นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “แสงคือสี สีคือแสง” ในปี 2550 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ในปี 2551 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ถ้าเดินเรื่อยไปย่อมถึงปลายทาง” ในปี 2552 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สี แสง แสดงชีวิต” ในปี 2553 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อุปบัติ ณ โลกี” ในปี 2554 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์“ควงกล้องท่องโลก” ในปี 2555 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “รูปยาตรา ภาพทัศนาจร” ในปี 2556 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อันมีทิพเนตรส่องไป” ในปี 2557 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อยู่มานาน กาลเวลามีสุข” ในปี 2558 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ทัศนียมรรคา” ในปี2559 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” ในปี 2560 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สวัสดีปีจอหมา มาคอยท่าปีกุนหมู” ในปี 2562 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” ในปี 2563 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตยามอยู่บ้าน” และในปี 2564 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์หัวข้อ “ธรรมดาแบบใหม่ : New Normal”
ทูลกระหม่อมอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2523 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตัดสินพระทัยเข้ารับราชการในกองทัพบก ทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งขึ้น ด้วยพระบรมราชปณิธานที่จะให้การศึกษาอบรมและดำเนินการฝึกนักเรียนนายร้อย เพื่อออกไปรับราชการเป็นนายทหารของกองทัพบก ดังเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง “10 ปีในรั้วแดงกำแพงเหลือง” ความตอนหนึ่งว่า“…พลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ซึ่งเป็นราชองครักษ์และเป็นคนคุ้นเคยกับข้าพเจ้า เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาชวนให้ข้าพเจ้าเข้าทำงานที่โรงเรียน จปร. เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นงานที่ข้าพเจ้าคงพอจะทำได้ในขณะนั้นข้าพเจ้าเพิ่งสำเร็จการศึกษา มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่สร้างสรรค์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นข้าพเจ้ายังมีใจรักที่เป็นครู จึงตกลงใจรับราชการที่นี่ ได้ดำเนินการเรื่องเอกสารการสมัครเข้าทำงานครบตามระเบียบปฏิบัติที่ได้รับคำแนะนำ…”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งอาจารย์สอนในสายวิชาประวัติศาสตร์ ทรงวางแนวการสอนและทรงปรับปรุงเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย และเหมาะสมกับนักเรียนนายร้อยอยู่เสมอ เช่น วิชาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นวิชาที่ให้ความรู้พื้นบ้าน รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงของไทย ที่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับไทย ทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร จึงเป็นวิชายอดนิยมที่นักเรียนให้ความสนใจเลือกศึกษาเป็นอันมาก นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเป็นที่ปรึกษาในสายวิชาสังคมวิทยาและวิชาพัฒนาชุมชน เพื่อเสริมนโยบายยุทธศาสตร์พัฒนา ทรงเป็นประธานในการจัดทำตำรา และทรงสนับสนุนการนำนักเรียนนายร้อยไปศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อให้ได้สัมผัสสถานที่จริงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ในแง่ต่างๆ แล้วยังทรงสอดแทรกในเรื่องของความเป็นอยู่ของชุมชน การเจริญเติบโตของชุมชนในด้านต่างๆ ตามยุคตามสมัยไว้ด้วยทุกครั้งไป ปัจจุบันทรงเกษียณจากการสอนแล้ว พร้อมทั้งพระราชทานเงินเดือนที่ทรงได้รับตลอด 35 ปี คืนให้กับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
พระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ทั้งพระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสานต่อจาก พระบาทสมเด็จพระบรม
ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชสมัยปัจจุบัน, พระราชกรณียกิจเยือนต่างประเทศ, พระราชกรณียกิจประจำวัน และพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษา ด้านการพัฒนา ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ด้านสาธารณกุศล ด้านสาธารณสุขและโภชนาการ ด้านการต่างประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และด้านเกษตรกรรม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้นมุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลอย่างสมบูรณ์
โครงการตามพระราชดำริฯ ในระยะต่อมาและในปัจจุบันเน้นในด้านการพัฒนาการศึกษามากขึ้น ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า “...การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ตลอดจนความประพฤติและคุณงามความดีของบุคคล ให้บุคคลดำรงตนอยู่ในสังคมและในโลกได้อย่างมั่นคงและมีความสงบร่มเย็นได้ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเพียงใดก็ตาม...”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน ทรงห่วงใยในความด้อยโอกาสทางการศึกษาของราษฎรทุกหมู่เหล่า ทั้งชนกลุ่มน้อย และประชาคมเมือง ทุกคนควรมีโอกาสได้รับการศึกษา ได้รับบริการจากภาครัฐโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในงานเสวนาทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2548 ความตอนหนึ่งดังนี้
“...ให้คนทุกคนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะรับสิ่งดีๆ ในชีวิต ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะเอาอะไรมาให้ก็ได้ หรือว่าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเมือง หรือดูแลชุมชนต่างๆ ก็ต้องรู้ว่าคนอื่นเขาก็มีสิทธิเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คนด้อยโอกาส หรือบุคคลชายขอบ ที่เรียกกันตอนนี้ว่าคนที่อยู่ในภาวะวิกฤต ก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือได้รับการดูแล...
...ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิ เราก็จะพูดถึงในแง่ว่าคนเรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มีสิทธิที่จะอยู่อย่างดี ควรจะได้รับการศึกษา การศึกษานี้เพื่ออะไร เพื่อให้สามารถที่จะพยุงตัวเองและดำเนินชีวิตไปได้อย่างสุขสบาย จะได้เอาความรู้นั้นไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นหรือชุมชนได้อีก...”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงาน โดยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความชำนาญ จัดทำเป็นโครงการต่างๆที่นำแนวพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งมีหลักการสำคัญในสองแนวทาง คือ แนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ หรือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ที่มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาจนสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งนี้ ได้พระราชทานข้อคิดในการดำเนินงานแก่นักพัฒนา ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในงานเสวนาทางวิชาการดังกล่าวข้างต้น ความตอนหนึ่งว่า
“...ที่จริงศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติงานเรื่องการพัฒนา ถ้าเราจะเรียกตัวเองเป็นนักพัฒนา หรือว่าจะเป็นการพัฒนาด้านอาหารโภชนาการหรือด้านอื่นๆ เรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์น่าจะเป็นไปได้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิ ประการแรก คือให้คนที่เราจะพัฒนาได้กระทำด้วยตัวเอง และอยากเอง ทำเอง ก็เป็นศักดิ์ศรีของเขา ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นฝ่ายรับอยู่ร่ำไป ถ้าเราไปทำให้ถูกในจุดนี้ได้ ก็เป็นเรื่องการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ ประการที่สอง ต้องคิดว่าเวลาไปพัฒนา ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนที่สูงเด่นกว่าเขา หรือเป็นคนที่ศักดิ์ศรีสูงกว่าเขา อุตส่าห์ก้มตัวลงไปทำงานกับเขา ถ้าคิดอย่างนั้นก็อย่าไป คือเราไปทำแล้วเห็นคนอื่นใครๆ ต่ำกว่าหมด ทุกคนต่ำกว่าหมด ทุกคนโง่กว่าหมด อย่างนั้นก็คบกันไม่ได้ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะไปทำงานกับใครก็ต้องช่วยกัน เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกว่าไปพัฒนาไปช่วย เขาเรียกว่าความร่วมมือกันทั้งนั้น...”
พระราชกรณียกิจด้านองค์กรและมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศล
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ครอบคลุมงานสำคัญๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมืองเกือบทุกด้าน นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงปฏิบัติตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯมอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงานด้านการบริหารองค์กรและมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศล อาทิ โปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เป็นต้น รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดมาซึ่งรวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยปัจจุบัน
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงขยายความร่วมมือไปยังโครงการระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลจังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหภาพพม่าในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและมองโกเลีย, การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ทุนการศึกษาพระราชทานสำหรับนักเรียนไทยศึกษาต่อในต่างประเทศ, ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น
จากพระวิริยอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งทั้งในราชอาณาจักรและนานาชาติ จึงทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่างๆมาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่างๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนามไปเป็นชื่อพรรณพืชและสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่และสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพร ขอทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี