คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไทยเบฟเวอเรจ และสามย่านมิตรทาวน์ ร่วมจัดนิทรรศการ “รัตนแห่งจุฬาฯ” จากพรรณไม้ สู่นวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน ที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พืชพรรณไทยและการพัฒนาพรรณไม้ ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ชวนเรียนรู้การอนุรักษ์พืชพรรณ สนุกกับกิจกรรมเวิร์กช็อป ช้อปสินค้าชุมชน ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
นิทรรศการ รัตนแห่งจุฬาฯ 2568
นิทรรศการครั้งนี้มีจุดประสงค์สำคัญในการเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงทุ่มเทให้แก่การอนุรักษ์พืชพรรณไทย ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมและพัฒนาพรรณไม้ต่างๆ ที่หายากและมีคุณค่าทางการแพทย์ รวมถึงการใช้พรรณไม้ในโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ โดยได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลจากคณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายในนิทรรศการจัดแสดงพรรณไม้หลากหลายชนิด ควบคู่ไปกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและการส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแบ่งการ จัดแสดงออกเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่
โซนต้นไม้ประจำพระองค์ “จำปีสิรินธร” ซึ่งเป็นพรรณไม้จำปีที่มีอยู่แห่งเดียวในโลกที่ป่าพรุชุมชน ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี และยังเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รวมทั้งพรรณไม้พระราชทาน อาทิ ม่วงเทพรัตน์ สัญลักษณ์ประจำอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ไอยริศ ซึ่งเป็นพืชหายากและถิ่นเดียวของประเทศไทย เป็นต้น
ม่วงเทพรัตน์ โซนต้นไม้ประจำพระองค์
“โซนพรรณไม้เทิดพระเกียรติ” พืชชนิดใหม่ของโลกซึ่งได้รับพระราชทานชื่อตามพระนามสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงสนพระทัยและสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์ตลอดมา อาทิ สิรินธรวัลลีหรือสามสิบสองประดง ซึ่งพบในภาคอีสานตอนบนและมีลักษณะเด่นคือกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ค้นพบปี 2538 เทียนสิรินธร หรือชมพูสิริน เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะในกระบี่และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาหินปูน และได้รับพระราชทานชื่อ ชมพูสิริน ตามสีของดอกไม้ กุหลาบพระนามสิรินธร กุหลาบพันธุ์ใหม่ที่นำเข้าปลูกมาในชลบุรี และกลายพันธุ์มาจากพันธุ์ Madras รักตสิริน กล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมชนิดใหม่ระหว่างหวายไทยแลนด์กับแอรี่เรดบูล ดอกสีแดงกำมะหยี่ขอบสีขาว สวยโดดเด่น เป็นต้น
เทียนสิรินธร โซนพรรณไม้เทิดพระเกียรติ
ไอยริศ โซนต้นไม้ประจำพระองค์
โซนต้นไม้ทรงปลูก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีที่มาน่าสนใจ เช่น ต้นรวงผึ้ง ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกในปี 2517 โดยนำพันธุ์มาจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ทั้งยังเป็นพรรณไม้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ต้นมหาพรหมและต้นสรัสวดี เป็นชื่อพระราชทานพ้องกับสรัสวตีเทวี ซึ่งเป็นเทพผู้เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี ต้นจำปีสิรินธร ต้นยางนา ต้นตะเคียนทอง ต้นตะเคียนหิน ต้นยางแดง เป็นต้น
โซนพรรณไม้สู่นวัตกรรม จัดแสดงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีสนองพระราชดำริโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพรรณพืช สู่การสร้างผลิตภัณฑ์
โซนภาพถ่ายดอกไม้ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
โซนภาพถ่ายดอกไม้ฝีพระหัตถ์
ตลอดระยะเวลาจัดงานมีบูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริ ซึ่งต่างนำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง อาทิ พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษของโครงการหลวง สินค้าที่ระลึกของมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ฯ เครื่องจักสานและผ้าทอมือของภัทรพัฒน์ ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปของดอยคำ กาแฟดอยตุงและแมคคาเดเมียของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง หนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ปี พ.ศ. 2549 - 2567) ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากพรรณไม้และดอกไม้ เช่น ขนมทองม้วนดอกไม้ น้ำวุ้นดอกไม้ จากร้านดอกไม้บ้านเรา ชาดอกไม้นานาชนิดพร้อมชงจากร้าน Grace family เป็นต้น
บูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริ
ร่วมเรียนรู้กับกิจกรรมเวิร์กช็อปฮีลใจที่เกี่ยวเนื่องกับดอกไม้และพืชพรรณต่าง ๆ อาทิ การทำดอกไม้ทับแห้ง และ ภาพพิมพ์จากธรรมชาติ หรือ Eco Paint โดยศูนย์แม่ข่ายประสานงาน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวาดภาพพรรณไม้โดย ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา พร้อมชื่นชมพันธุ์ไม้หาชมยาก และเรียนรู้การอนุรักษ์ พืชพรรณด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ในนิทรรศการ “รัตนแห่งจุฬาฯ”จากพรรณไม้ สู่นวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน ตั้งแต่วันนี้ - 3 เมษายน 2568 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี