อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์”
กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ให้แก่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อน้อมนําแนวพระดําริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลโดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำแบบลายผ้าที่ได้รับไปมอบให้แก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทยนำลวดลายอันทรงคุณค่ามาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย โดยผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ อันเป็นการฟื้นฟูและสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพงานหัตถศิลป์ไทยให้ก้าวไกลในทุกมิติ
พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสาวธนนนท์นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไชยวัฒน์จุนถิระพงศ์ เป็นต้น ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ห้องแอมเบอร์ 2-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ โดยกล่าวว่า “นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ที่ทรงออกแบบขึ้น เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2568 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายที่ปรากฏในศิลปกรรมไทยและผืนผ้าโบราณที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งทรงนำมาออกแบบต่อยอดให้โครงสร้างลวดลาย มีความร่วมสมัย เป็นสากล และสื่อถึงเอกลักษณ์อันงดงามของชาติไทย
(ซ้าย) อรจิรา ศิริมงคล, จิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์, อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์, ทรงศักดิ์ ทองศรี,ธนนนท์ นิรามิษ, อนุทิน ชาญวีรกูล, ดร.ศรินดา จามรมาน, ศิริชัย ทหรานนท์, ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์,ภูภวิศ กฤตพลนารา และ สยาม ศิริมงคล
และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พระราชทานลายผ้า “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์”ประเภทผ้าบาติก ลายที่ 1 และ 2แก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทย เพื่อนำไปถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถกรรม ด้วยการผสมผสานกับลวดลายโบราณในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาแห่งอดีต ยกระดับมาตรฐาน และเพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมในทุกมิติ ด้วยการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน”
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้าช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย และขอน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทย และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งดำเนินตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ว่า “การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ฟื้นฟูคุณภาพการทอผ้าของช่างทอผ้าทั่วประเทศให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและช่วยจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การสร้างรายได้สู่ครัวเรือน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้รับมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์”ทุกจังหวัดจะเร่งดำเนินงานขับเคลื่อน โดยจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมในจังหวัด นำไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ต่อไป โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP (Coaching) 4 ภาค ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2568 และจัด Coaching จุดแรก ที่จังหวัดนนทบุรีในวันที่ 10 เมษายน 2568 จุดที่ 2ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 19 เมษายน 2568 จุดที่ 3 ที่จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 22 เมษายน 2568 จุดที่ 4 ที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 26 เมษายน 2568 และจุดสุดท้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 จากนั้นได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม (ประกวดผ้าและงานหัตถกรรมลายพระราชทาน) ภายในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2568 ต่อไป
รองนายกฯและรมว.มหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล และภริยา ธนนนท์ นิรามิษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี