นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเดินทางเยือนต่างประเทศของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง หลักๆ คือการไปเยือนรัสเซีย จีน และเบลารุส หลังจากเมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก แต่ไทยถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เปิดบ้านรับการมาเยือนของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจบลงไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบวิสัยทัศน์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของ BIMSTEC
ผู้นำที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน, นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย, พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, เค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาลและ ดร.หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
ก่อนการประชุมผู้นำ BIMSTECจะเริ่มต้นขึ้น แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีเมียนมาได้พบหารือทวิภาคีกัน โดย พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ ตามแผนการ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควันระหว่างกัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระหว่างสองประเทศ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องให้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ โดยเมียนมาขอบคุณไทยที่เชิญเมียนมาเข้าร่วมหลักสูตรการศึกษาของกองทัพเพื่อการพัฒนา เมียนมาเห็นด้วยกับข้อริเริ่มของไทยที่จะ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” อย่างในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ไทยยังขอเมียนมาให้มีความเข้มงวดต่อการข้ามแม่น้ำเมย และทั้งสองฝ่ายหารือสกัดกั้นช่องทางการลักลอบสินค้า อุปกรณ์ บุคคล สารตั้งต้นยาเสพติด และอาวุธผิดกฎหมาย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังชี้แจงว่า การที่ผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศมีร่วมกันในฐานะสมาชิก เช่นกันกับ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ตอบสื่อมวลชนด้วยว่า เป็นภาระหน้าที่ของไทยตามกฎบัตรบิมสเทค ที่จะต้องเชิญผู้นำทุกประเทศสมาชิก รวมถึงเมียนมา เข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง โดยไม่มีการหารือถึงประเด็นภายในประเทศเมียนมาแต่อย่างใด
BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบอ่าวเบงกอล 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา และไทย ครอบคลุมประชากรประมาณ 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 22% ของประชากรโลกและมี GDP รวมกันแตะ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
การประชุม BIMSTEC จัดขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติใหญ่ซึ่งชาติสมาชิก BIMSTEC แต่ละประเทศ ต่างสนับสนุนความช่วยเหลือให้กับเมียนมาในยามวิกฤต ทั้งส่งทีมกู้ภัยและสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งถือเป็นชาติแรกๆ ที่ส่งความช่วยเหลือไปให้กับเมียนมา
หากสังเกตความเคลื่อนไหวในเมียนมาตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะเห็นชอบในฉันทามติ 5 ข้อ ระหว่างการประชุมอาเซียนนัดพิเศษที่กรุงจาการ์ตาเพียง 2 เดือนกว่าๆ หลังก่อรัฐประหาร แต่ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าที่เมียนมาจะเริ่มหันหน้าเข้าหาอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิรบจากปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เมื่อปี 2566
ขณะที่ปี 2567 ถือเป็นปีที่รัฐบาลทหารเมียนมาเดินเครื่องเต็มสูบในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรม เริ่มตั้งแต่การยอมผ่อนคลายระเบียบพรรคการเมือง และเริ่มสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะประกาศเมื่อเดือนมี.ค. ว่า ต้องการจัดการเลือกตั้ง
ทั่วไปในเดือนธ.ค.นี้ หรืออย่างช้า คือเดือนม.ค. 2569
ภาพรวมสถานการณ์สู้รบในเมียนมาและความเคลื่อนไหวบนเวทีนอกประเทศของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้สะท้อนว่า มีความพยายามในการปูทางเพื่อจัดการเลือกตั้งขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงการประชุมอาเซียนนัดแรกที่ลังกาวี เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมียนมาใช้เป็นเวทีในการย้ำถึงความต้องการในการจัดการเลือกตั้ง
แต่ขณะนั้น อาเซียนยังยืนยันว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญอันดับแรก แต่เป็นเรื่องของการหยุดยิงและทุกฝ่ายยอมยุติการสู้รบ ดังนั้นการเดินทางมาไทยของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อาจช่วยเปิดพื้นที่ของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการแสดงจุดยืนเรื่องการจัดเลือกตั้ง และเรียกเสียงสนับสนุนด้วยหรือไม่
ขณะที่ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เตรียมเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ประสบภัยด้วย
หลายคนจับตามองว่า การเปิดบ้านรับการมาเยือนของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นข้อครหาว่าเป็นการช่วยฟอกตัว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาบนเวทีโลกด้วยหรือไม่
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี