หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยมากคือ ถ้าเป็นมะเร็งแล้วควรกินหรือควรเลี่ยงอาหารประเภทใด อย่างไร ตอบแบบกว้าง ๆ คือ อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกินได้แก่ อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ สะอาด ปรุงถูกสุขลักษณะ ขอย้ำว่าไม่เคยแนะนำว่าต้องไปสรรหาอาหารพิเศษใด ๆ มากินเพื่อต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง
แป้งก็กินได้ น้ำตาลก็กินได้ โปรตีนไม่ว่าจะจากสัตว์หรือพืชก็กินได้ แต่กินในสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนอาหารที่ควรเลี่ยง อันนี้มีประเด็น คือ ส่วนใหญ่คำแนะนำหรือข้อมูลความรู้จะเน้นหนักไปทางอาหารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
อาหารที่ควรเลี่ยงถ้าไม่อยากเป็นมะเร็ง อาทิ เนื้อแดง อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารไขมันสูง อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันทอดซ้ำ แต่หากเป็นมะเร็งไปแล้ว ก็แปลว่าเรายิ่งต้องเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเหมือนกับเรามียีนกระตุ้นการเกิดมะเร็งอยู่แล้ว คนทั่วไปกินแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ดังนั้น คนที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว ต้องเลี่ยงอาหารเหล่านี้ให้ได้
ที่กล่าวมาข้างต้น คือการพูดกันอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ความจริงอาหารการกินในผู้ป่วยมะเร็งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก เราจะขอข้ามเรื่องอาหารก่อนเป็นมะเร็งไป โดยเก็บไว้พูดกันวันหน้า เพราะประเด็นจำเพาะที่อยากเล่าในวันนี้คือ กรณีของผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายาเคมีบำบัดบางสูตรบางตัวทำให้คลื่นใส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การรับรสอาหารเปลี่ยน เป็นผลทำให้ผู้ป่วยกินไม่ได้ ตัวผู้ป่วยเองก็กังวล ญาติหรือผู้ดูแลก็กังวล ผู้ป่วยเองก็อยากกิน แต่กินไม่ได้ ญาติก็พยายามสรรหาสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่าดีต่อสุขภาพมาให้กิน แต่ผู้ป่วยก็กินไม่ได้ ญาติบางคนไปกันใหญ่ถึงขั้นจัดแจงให้กินแต่อาหารที่คิดว่าดี พร้อมกันนั้นก็ห้ามผู้ป่วยกินสิ่งต่าง ๆ ที่เคยชอบกิน หรือยังพอกินได้ โดยอ้างว่าไม่เหมาะ เช่น ห้ามกาแฟ ห้ามกินเนื้อ ให้กินแต่ผักผลไม้ ธัญพืช แถมยังพยายามไม่ปรุงแต่งเพื่อลดเค็ม ลดเกลือ ลดสารปนเปื้อน แบบนี้ก็ยิ่งทำให้ต่างคนต่างเครียดมากขึ้น สุดท้ายไม่สงผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยและญาติ ๆ
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดกินไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วมาจากตัวยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร โดยทั่วไปจะมีการให้ยาเพื่อป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนไว้แล้ว ถ้าคนไข้ใช้ยาถูกต้องตามแพทย์สั่งก็จะช่วยป้องกันอาการได้ราว ๆ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ากินยาตามสั่งแล้วยังป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนไม่ได้ คนไข้ต้องแจ้งแพทย์ เพราะสามารถเพิ่มชนิด หรือขนาดยาให้สอดคล้องกับอาการของคนไข้ได้
ในส่วนของการจัดการด้วยวิธีไม่ใช้ยาเมื่อคนไข้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนคือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารมัน ๆ รสจัด ๆ หรืออาหารที่มีกลิ่นแรง อย่ากินอาหารทีละมาก ๆ หรือกินอิ่มเกินไป แต่ควรกินทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ และอาจพิจารณาอาหารที่รสอ่อน ๆ อาจจิบน้ำขิงหรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวเพื่อลดอาการคลื่นไส้ และทางที่ดีก็ควรเตรียมอาหารไว้ให้พร้อมหยิบมากินได้ตลอดวัน เผื่อจังหวะไหนที่อาการคลื่นไส้ทุเลาลง ก็จะได้กินทันที ที่สำคัญไม่ควรฝืนใจกิน เพราะหากกินเข้าไปแล้วอาเจียนก็จะกลายเป็นภาพจำที่ไม่ดีสำหรับผู้ป่วย จนอาจจะพาลไม่อยากกินอาหารนั้นไปอีกนาน
สรุป ผู้ป่วยควรกินอาหารดีมีประโยชน์ที่กินได้ในเวลาที่อยากกิน ส่วนอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างที่ผู้ป่วย หรือญาติรู้สึกว่าไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ชา น้ำอัดลม ขนมหวาน ก็กินได้ปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ควรให้กินในสิ่งที่ยังมีความอยากกินได้บ้าง
ส่วนอาหารที่ผู้เขียนยืนยันไม่ให้กินโดยเด็ดขาดระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานของคนไข้ต่ำ คือ อาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ อาหารบางอย่างอาจรู้สึกว่าดีต่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้ แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งจะได้รับยาเคมีบำบัดและมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่แนะนำให้กินผักสดหรือผลไม้เปลือกบาง เนื่องจากอาจล้างเอาเชื้อโรคออกได้ไม่หมด หากอยากกินก็กินผักสุก หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกออกแล้ว ซึ่งปลอดภัยมากกว่าอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่ ๆ หรือเก็บค้างคืน อาหารดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ต้องเลี่ยงให้มาก รวมถึงพวกอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารปิ้งย่างหมักดองต่าง ๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากเรื่องอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาเคมีบำบัดบางสูตรบางตัวยังทำให้เกิดแผลในปากและทางเดินอาหารได้ ทำให้นอกจากเบื่ออาหารแล้ว คนไข้ยังมีปัจจัยซ้ำเติม ที่ทำให้กินได้น้อยลง เนื่องจากเจ็บแผลในปาก แต่มีเมนูขอแนะนำคือ อาหารที่มีลักษณะนิ่ม รสอ่อน กินง่าย แต่ให้สารอาหาร และพลังงานสูง เช่น ซุปข้น ไข่ตุ๋น เป็นต้น
อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกิน หรือไม่ควรกิน ควรพิจารณาอย่างละเอียดว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงใดของการรักษา และกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใดอยู่ ผู้ป่วยกับญาติต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดี แล้วเลือกทางสายกลางเพื่อดูแลสุขภาพระหว่างเจ็บป่วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความเครียดในระหว่างรักษาโรค ส่วนการรับข้อมูลต่าง ๆ จากโซเชียลมีเดียสารพัดชนิดก็ดี จากผู้หวังดีก็ดี ขอให้พิจารณาให้ดีก่อน แต่ที่ดีที่สุดคือต้องปรึกษาแพทย์ หรือบุคลากรการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ นับว่าดีที่สุด
รศ. ภญ. ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ. ภก. ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี