การตอบโต้กันทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สร้างความกังวลไปทั่วโลก ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ามาตรการทางภาษีของทรัมป์อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 เม.ย.) กระทรวงการคลังจีนออกแถลงการณ์ว่า จีนจะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นร้อยละ 125 และว่าการที่สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีสูงผิดปกติกับจีนได้ละเมิดระเบียบการค้าทางเศรษฐกิจและสากล กฎหมายเศรษฐกิจพื้นฐาน และสามัญสำนึก และเป็นการข่มเหงและข่มขู่แต่ฝ่ายเดียวอย่างสิ้นเชิง
จีนแถลงเรื่องนี้หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอการเก็บภาษีรายประเทศในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 11 ไปจนถึงร้อยละ 50 ออกไปอีก 90 วัน ยกเว้นจีนที่ถูกเก็บในอัตราร้อยละ 125 ก่อนที่ทำเนียบขาวจะชี้แจงในภายหลังว่า จีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตรารวมทั้งหมดร้อยละ 145
ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า จีนจะให้ความช่วยเหลือบริษัทการค้าระหว่างประเทศของจีนที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านการส่งออก ให้หันมาสำรวจตลาดภายในประเทศแทน สหรัฐใฯ ช้มาตรการภาษีกับจีนอย่างเกินขอบเขต ซึ่งละเมิดสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีนอย่างรุนแรง ขัดขวางการค้าทวิภาคี และส่งผลกระทบต่อบริษัทการค้าระหว่างประเทศของจีน ดังนั้น จีนจะมุ่งจัดการกิจการภายในของตนให้ดี และใช้ความแน่นอน ภายในประเทศปกป้องความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมภายนอก
ในส่วนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ก็ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งแรก โดยบอกเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า และการทำตัวต่อต้านโลก มีแต่จะทำให้ตัวเองต้องโดดเดี่ยว และว่าตลอด 70 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาของจีนอาศัยการพึ่งพาตัวเองและทำงานหนัก ไม่เคยยื่นมือรับความช่วยเหลือจากใคร จีนไม่หวาดกลัวต่อการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร จีนจะยังคงมั่นใจ ตั้งใจ และมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาได้อย่างดี
สังเวียนการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนครั้งนี้ ถือเป็นยกที่ 2 ที่ดุเดือดและรุนแรงกว่ายกแรกเป็นอย่างมาก โดยในยกแรก รัฐบาลทรัมป์ 1.0 บังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีกับจีนทั้งหมด 5 ระลอก เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. 2018 หรือ 1 ปีครึ่งหลังโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งผู้นำประเทศ
ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือน ม.ค. 2020 และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างครบถ้วน เนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด-19 เสียก่อน
ตลอดระยะเวลาประมาณ 17 เดือนของสงครามการค้ายกแรก สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 25% ในสินค้าหลายประเภทจากจีน กระทบกับสินค้าจีนกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนเดินเกมโต้กลับกำแพงภาษีสหรัฐฯ ทุกระลอกเช่นกัน กระทบกับสินค้าอเมริกันประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข้อมูลจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ 1.0 ครบวาระ สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 19.3% ซึ่งรัฐบาลสมัยต่อมาในยุค โจ ไบเดน ยังคงบังคับใช้มาตรการภาษีเดิมกับจีนและเพิ่มมาตรการใหม่ด้วย ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20.8%
จุดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า จริงๆ แล้ว จีนอาจเตรียมตัวรับมือกับสงครามการค้ายกนี้มาล่วงหน้าแล้วหรือไม่ เพราะมองในด้านหนึ่ง การค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเหมือนในอดีต ขณะที่จีนมีการค้ากับสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 2% ของ GDP ทั้งประเทศเท่านั้น รวมทั้งยังเปิดตลาดใหม่ๆ ในหลายประเทศและเพิ่มการซื้อขายในตลาดของตัวเอง
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ของทรัมป์ยืนกรานว่า มาตรการภาษีที่ดำเนินการมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พร้อมชื่นชมการหารือกับหลายประเทศเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าใหม่ ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่า จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของตน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การขึ้นภาษีตอบโต้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้การค้าสินค้าระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นไปไม่ได้ โดยมูลค่าการค้าดังกล่าวในปี 2024 อยู่ที่มากกว่า 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่า ทุกฝ่ายหวังว่าสหรัฐฯ และจีนจะหาทางออกร่วมกันด้วยการเจรจา แต่ว่าทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และสีจิ้นผิง ยังไม่ได้มีการติดต่อพูดคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของทำเนียบข่าวสองคนได้ให้ข้อมูลกับ CNN ว่า ทางสหรัฐฯ จะไม่เป็นฝ่ายติดต่อจีนก่อน ถ้าหากว่าทางจีนอยากจะเจรจาเรื่องนี้ ฝ่ายจีนจะต้องเป็นฝ่ายติดต่อสหรัฐฯ เข้ามาเอง ซึ่งทางจีนเองก็ไม่ได้แสดงสัญญาณที่จะเป็นฝ่ายติดต่อสหรัฐฯไปก่อน เพราะนักวิเคราะห์มองว่า หากฝ่ายไหนยอมเป็นฝ่ายขอเจรจาก่อน อาจจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า และจะทำให้กลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบในการเจรจา
ที่ผ่านมา โลกเผชิญกับสงครามการค้าครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงสงครามฝิ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยจักรวรรดิอังกฤษบังคับให้จีนเปิดตลาดให้พ่อค้าอังกฤษนำฝิ่นอินเดียเข้ามาขาย ก่อนจะลามไปถึงการเข้าปกครองเกาะฮ่องกง เปิดท่าเรือรับการค้าโลกและจำกัดภาษีศุลกากรที่ 5%
ขณะที่ในปี 1930 สหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย "สมูท-ฮอว์ลีย์" ซึ่งทำให้มีการบังคับใช้กำแพงภาษีนำเข้าเกือบ 60% กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่นำโดยแคนาดา ตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษี จนทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ หดตัวลงมากกว่า 60% ระหว่างปี 1929-1933
สงครามพาสตาในปี 1985 เกิดขึ้นหลังจาก โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมอเมริกัน จึงขึ้นภาษีนำเข้าพาสตาจากยุโรป ขณะที่ยุโรปตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีถั่วและเลมอนจากสหรัฐฯ ก่อนจะบรรลุข้อตกลงกันได้หลังทำศึก 9 เดือน
ในอดีต องค์การการค้าโลก หรือ WTO เข้ามามีบทบาทในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศอยู่หลายครั้ง แต่ปัจจุบัน WTO กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงแค่เสือกระดาษที่ขู่ใครไม่ได้หรือไม่ หลังจากจีนและหลายชาติทำหนังสือร้องเรียนในประเด็นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ แต่ WTO ก็ยังทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งผู้นำสหรัฐฯ ยังเคยขู่ถอนตัวออกจากกลุ่มความร่วมมือนี้หลายครั้ง
หากนักการเมืองอเมริกันขับเคลื่อนนโยบายตามการสนับสนุนของฐานเสียง ก็อาจจะได้เห็นมาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์บังคับใช้ต่อไป ขณะที่ผลสำรวจความเห็นล่าสุดของ Reuters/Ipsos ชี้ว่า ชาวรีพับลิกันเกือบ 3 ใน 4 สนับสนุนมาตรการนี้ ซึ่งก็มีชาวอเมริกันอีกมากที่เห็นด้วยกับทรัมป์ว่าประเทศคู่ค้าฉวยโอกาสจากสหรัฐฯ จริงๆ
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี