วันก่อนผู้เขียนถูกลูกศิษย์ถามว่า "อาจารย์คะ ต่อไป AI จะทำงานแทนเภสัชกรได้มากน้อยแค่ไหน พวกหนูต้องเตรียมตัวพัฒนาทักษะอะไรบ้าง เพื่อให้อยู่รอดในอาชีพต่อไปในยุค AI"
ผู้เขียนจึงให้นิสิตยกตัวอย่างว่า "มีงานอะไรบ้างที่ AI ทำแทนเภสัชกรได้จริง ๆ แล้ว ตัวอย่างงานหนึ่งที่ถูกยกตัวอย่างคือ ตอบคำถามเรื่องยา เช่น ปวดหัวต้องกินยาอะไร ขนาดครั้งละกี่เม็ด ความถี่ทุกกี่ชั่วโมง ถ้ามียาโรคประจำตัวเดิม กินยาที่กินแก้ปวดหัวแล้วยาจะตีกับยาเดิมหรือไม่" คำถามทั่วไปแบบนี้ ส่วนใหญ่ถาม AI ไม่ว่าเจ้าไหนก็ตอบได้ แล้วยังตอบได้ครอบคลุมถูกต้องเสียด้วย สรุปแล้วงานนี้ AI ทดแทนเภสัชกรได้จริง ใช่ไหม
ในฐานะเภสัชกร ผู้เขียนไม่มีคำตอบตายตัวกับคำถามนี้ และไม่อาจพูดอย่างมั่นใจว่า ไม่มี AI ตัวไหนที่ตอบคำถามแทนมนุษย์ได้ทุกกรณี แต่การตอบคำถามเรื่องยาที่เภสัชกรสอนกันมา เราไม่ได้ใส่ใจแค่คำถาม สมมติเภสัชกรได้รับคำถามว่า เด็กหนัก 10 กิโลกรัม มีไข้สูง อยากให้ยา paracetamol ต้องให้ปริมาตรกี่มิลลิลิตร AI ก็คงจะตอบทันทีว่า ถ้าคิดขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักเด็ก ต้องใช้ยา 100-150 มิลลิกรัม ซึ่งก็ต้องดูต่อไปด้วยว่ายาที่มีอยู่ มีความแรงกี่มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เช่นถ้ามียาความแรง 120 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร ก็ให้กินยามื้อละประมาณ 4.16-6.25 มิลลิลิตร ซึ่งสามารถตวงให้ปริมาตรแม่นยำได้โดยการใช้ syringe
เรื่องการให้ยานั้น AI อาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าให้ยาซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้าเด็กซึมหรืออาการไม่ดีขึ้น และไม่กินอาหาร ต้องรีบพาไปพบแพทย์ เป็นต้น แต่ถ้าถามคำถามนี้กับเภสัชกรที่เป็นมนุษย์ เภสัชกรที่เป็นมนุษย์ถูกสอนมาว่า เวลาจะตอบคำถามอะไรก็แล้วแต่ ต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้ถามเป็นใคร เป็นผู้ปกครองเด็กหรือผู้ใช้ยาเอง หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ต้องการคำตอบเร่งด่วนขนาดไหน รวมถึงผู้ที่จะใช้ยา มีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ถ้าคำถามนี้มาจากแม่เด็ก ต้องการนำยา paracetamol ที่มีอยู่เดิมให้ลูกซึ่งตัวร้อน โดยยานี้ได้มาพักใหญ่แล้ว เปิดใช้ไปแล้ว แต่ใช้ไม่หมด จึงเก็บยาไว้ เมื่อเด็กโตขึ้น มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น คุณแม่จึงไม่มั่นใจว่าขนาดยาที่อยู่บนฉลากจะเพียงพอให้ลูกกินตอนนี้ได้หรือไม่
ดังนั้น ก่อนจะตอบเรื่องขนาดยา สิ่งที่เภสัชกรจะต้องถามก่อนคือ ยานั้นเปิดใช้ตั้งแต่เมื่อไร ถ้าหากเกิน 6 เดือนแล้ว แนะนำให้ไปซื้อยาใหม่ เพราะยาเดิมน่าจะไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ต่อไป
แล้วยังต้องแนะนำให้คุณแม่กลับไปดูลักษณะทางกายภาพว่ายามีลักษณะเหมือนเดิมหรีอไม่ หากยามีสภาวะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไป เภสัชกรไม่แนะนำให้ใช้ยานั้นอีก
ดังนั้น แม้ว่าคำถามจะเป็นเรื่องขนาดยา แต่เภสัชกรที่เป็นมนุษย์จะถูกสอนให้สงสัยก่อนว่า ทำไมถึงอยากให้กินยานั้น และจะเอายาตัวนั้นมากินจริง ๆ ได้หรือไม่ ก่อนจะตอบเรื่องขนาดยา
นอกจากเรื่องยาแล้ว เภสัชกรจะถูกฝึกให้ใส่ใจเพิ่มขึ้นด้วยว่า ทำไมลูกคุณแม่ถึงเป็นไข้ เป็นมากี่วันแล้ว นอกจากไข้แล้วมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ทำให้ได้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยว่าตกลงแล้ว จะหยุดอยู่ที่กินยาลดไข้อย่างเดียว หรือแนะนำให้ใช้ยาอย่างอื่นร่วมด้วย หรือจำเป็นต้องไปพบแพทย์
ส่วนกรณีที่คนถามเป็นบุคลากรทางการแพทย์ สมมติเภสัชกรบนหอผู้ป่วยถูกถามเรื่องขนาดยา paracetamol ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาลที่ต้องใช้ยานี้บ่อย ๆ ก็แทบจะจำได้ขึ้นใจ แน่นอนว่าเภสัชกรจะต้องสงสัยต่อว่า ทำไมถึงเกิดคำถามนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องการตรวจสอบเฉย ๆ ก็แล้วไป แต่อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า คนไข้ที่คุณหมอดูแลอยู่อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ ตับอักเสบ ทำให้สงสัยเรื่องขนาดยาพาราเซตามอล เภสัชกรต้องสอบถามถึงการใช้ยาตัวอื่นในคนไข้รายนี้ เมื่อได้รายการยาทุกตัวมาแล้ว ก็นำมาเช็คว่ามีตัวไหนหรือไม่ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อตับ หรือถ้าตับมีปัญหาจะต้องระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาตัวไหน แล้วเปลี่ยนไปใช้ยาอะไรแทน ซึ่งส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่า AI อาจไม่สามารถตอบได้ละเอียดเท่าเท่าเภสัชกรที่เป็นมนุษย์
ดังนั้น ในมุมของประชาชนที่ต้องการสอบถามเรื่องยารวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ จึงต้องคำนึงถีงประเด็นข้างต้นด้วย ทั้งนี้ มีงานวิจัยพูดถึงความถูกต้องข้อมูลการตอบคำถามโดย AI ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด พบค่าเฉลี่ยกว้าง ๆ จากงานวิจัยอยู่ที่ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ขาดการพิจารณาแบบเฉพาะรายบุคคล เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีปัญหา และพื้นฐานทางสุขภาพไม่เหมือนกัน
AI อาจจะยังตอบคำถามเรื่องยาแทนเภสัชกรไม่ได้ครบถ้วน แต่ต้องยอมรับว่าคำตอบขั้นต้นที่ได้จาก AI ช่วยลดงานบางส่วนของเภสัชกรได้ และช่วยให้เภสัชกรมีเวลาให้บริการเชิงลึกเฉพาะบุคคลได้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้มีความปลอดภัย และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ได้มากขึ้น
รศ. ภญ. ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ. ภก. ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี