ใครจะคิดว่าการดื่มน้ำน้อย หรือการกินอาหารที่มีโซเดียมสูง อาจนำไปสู่โรคนิ่วในไตได้ ถึงแม้โรคนี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่รีบมารักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมและไตวายได้ในที่สุด
นายแพทย์นุพัชร ยอดคุณธรรม ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า นิ่วในไต เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุและสารเคมีในปัสสาวะที่ตกตะกอนและก่อตัวเป็นก้อนแข็งในไตหรือทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วเหล่านี้อาจมีขนาดเล็กจนไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดเอวเรื้อรัง ปัสสาวะเป็นเลือด มีการติดเชื้อในระบบปัสสาวะที่จะทำให้มีไข้ หนาวสั่น หากนิ่วมีขนาดใหญ่มากและตกค้างในไตเป็นเวลานาน อาจทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกรวยไตได้
นิ่วในไตเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การดื่มน้ำน้อยทำให้ปัสสาวะเข้มข้น และแร่ธาตุต่างๆ ตกตะกอนได้ง่าย การกินอาหารที่มีแคลเซียมหรือกรดยูริกสูง เช่น เนื้อแดง อาหารเค็ม และน้ำตาล ,กรรมพันธุ์ หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยมีนิ่วในไต อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น, ปัจจัยด้านสุขภาพ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ
การวินิจฉัยนิ่วในไตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติด้านสุขภาพและผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
นิ่วในไต เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายดีได้ โดยมีการรักษา ดังนี้ 1.การกินยาคลายท่อไตทำให้นิ่วตกลงมาได้ง่ายขึ้น หรือยาช่วยละลายนิ่ว ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้กับนิ่วที่อยู่บริเวณท่อไตส่วนปลายที่มีขนาดเล็กมากกว่า 5 มิลลิเมตร
2.การสลายนิ่ว (Extracorporeal shock wave lithotripsy:ESWL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วในไตขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และนิ่วมีความแข็งไม่มาก โดยมักมีข้อจำกัดหลายอย่างในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก, ตั้งครรภ์ และนิ่วที่อยู่ด้านล่างของไต(lower pole stones)
3.การผ่าตัดรักษานิ่วในไตผ่านรูที่ผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy:PCNL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วขนาดกลางถึงใหญ่ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญและเครื่องมือเฉพาะสำหรับการกรอนิ่วผ่านการเจาะรูที่ผิวหนัง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากอยู่ 4.การผ่าตัดเปิดเพื่อรักษานิ่ว วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เพราะต้องมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก และอาจทำให้การทำงานของไตลดลงได้หลังการผ่าตัด
ปัจจุบันมีวิธีการรักษานิ่วในไตโดยไม่ต้องผ่าตัด คือการส่องกล้องสลายนิ่วโดยใช้เลเซอร์ผ่านทางท่อไต (RIRS)” เป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ที่สามารถรักษานิ่วในไตได้ดีทุกขนาด ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่มีบาดแผล เสียเลือดน้อย ใช้ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น และสามารถนำนิ่วมาวิเคราะห์หาชนิดของนิ่ว เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม โรคนิ่วในไตเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพที่ดี เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอและการควบคุมอาหาร หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนิ่วในไต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี