สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายฯ หนุน 'แพลตฟอร์มเติมเต็ม'จับมือ 'ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด สู่ นโยบายชาติ และพันธะสากล'ร่วมขับเคลื่อนคุ้มครองเด็ก มั่นใจแก้ปัญหาครอบคลุมทุกมิติ เตรียมขยายสู่ภูมิภาคหลังประสบความสำเร็จใน8เขตกทม.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายงานภาคี จัดสัมมนา 'เติมเต็มระบบคุ้มครองเด็กจากชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด สู่นโยบายชาติและพันธะสากล' โดยน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจะนำปัญหาของเด็กในทุกมิติขึ้นมาพูดคุยและหาแนวทางแก้ไขปัญหา สิ่งที่เราพบในขณะนี้คือเด็กแรกเกิดถูกปล่อยทิ้งไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว ซึ่งที่เราเติมเต็มขึ้นมาคือการที่เราจะสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ ถ้ามองอาจจะเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือการให้การศึกษากับเด็กในทุกระดับได้รู้ถึงการใช้ชีวิต การป้องกันตนเอง การให้เขามีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งต่อไป ซึ่งบุคลากรที่ทำงานอยู่ตรงนี้มีความพร้อม แต่ในส่วนของภาครัฐก็ต้องมีการสนับสนุน กระทรวงมหาดไทยมีบุคลากรอยู่ทั่วประเทศก็จะใช้บุคลากรในส่วนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ดี ให้เด็กมีการศึกษาที่ดี ปัญหาต่างๆก็จะหมดลงไปได้
"เราโชคดีที่มีทั้งภาคประชาชนและภาครัฐเข้ามาให้ความร่วมมือในหลายส่วนด้วยกัน ที่ทำงานเป็นหลักอยู่คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะนำเรื่องของการให้ความรู้มาส่งต่อให้บุคลากรของเรานำไปเผยแพร่ในพื้นที่ระดับชุมชน ตำบลหมู่บ้าน ต่อไป ซึ่งก็จะทำให้การทำงานเป็นแบบบูรณาการเป็นองคาพยพใหญ่โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้เด็กเกิดมาแล้วมีคุณภาพมากที่สุด มีความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงครอบครัวของเด็กก็ต้องได้รับการดูแลด้วย เพราะตอนนี้ครอบครัวของเด็กที่ต้องได้รับการดูแลมีเยอะมาก"
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวด้วยว่ากระทรวงมหาดไทยโดยกรมพัฒนาชุมชน มีบุคลากรอยู่แล้วจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำข่าวสารเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีบุคลากรที่จะลงไปดูแลถึงต้นเหตุของปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และลดจำนวนของปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนี้ให้ได้มากที่สุด มั่นใจว่าถ้าเราได้เดินถูกทางแล้วและเดินต่อไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงได้
"งานวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของเราในการที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเห็นถึงความสำคัญของเด็ก ในส่วนที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ ก็คือการเอานโยบายที่เรามีอยู่ในขณะนี้ทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้เพื่อให้องคาพยพของเรานั้นประสบความสำเร็จในเรื่องของการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและตรงตามแพลตฟอร์มที่ตั้งมาคือ เติมเต็มชีวิตที่ดีให้กับเด็กเพื่อประเทศของเรา"
ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และ ครอบครัวสํานักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของสสส. มองว่าเรื่องใดๆก็ตามที่ประเทศมีหน่วยงานเจ้าภาพที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบและมีทรัพยากรในการทำงานอยู่แล้วเราก็จะดูว่ายังมีขาดเหลืออะไร ซึ่งในงานเรื่องเด็กนั้นทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่มีนโยบาย มีงบประมาณ และบุคลากร แต่ยังขาดระบบการทำงานเชิงรุก ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปดูแล ภายหลังจากรู้ว่าเด็กถูกล่วงละเมิดหรือถูกทำรุนแรงไปแล้ว จึงมีคำถามว่าหน่วยงานเหล่านี้มีข้อจำกัดในการทำงานเชิงรุกอย่างไร ดังนั้น สสส.ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานสนับสนุนและอยากให้มีการทำงานเชิงรุก จึงต้องการให้มีการเชื่อมกันกับระบบตั้งรับที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานเชิงรุก เราจึงออกแบบตัวแนวคิดของระบบที่ชื่อว่า"แพลตฟอร์มเติมเต็ม" ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเชิงรุก โดยสำรวจสถานการณ์เด็กทุกคน ซึ่งจะเห็นภาวะและปัจจัยเสี่ยง ว่า "อาจจะ"หรือ มีแนวโน้มอันตรายในอนาคต ซึ่งจะรู้ภาวะความเสี่ยงก่อนจะเกิดเหตุและเข้าไปวางแผนป้องกัน โดยเราเก็บข้อมูลทั้งตัวเด็ก และครอบครัวว่าเด็กคนไหนบ้างและมีปัญหาอะไรบ้าง ทั้งในด้านมิติสุขภาพ การศึกษา อาชีพ ด้านสังคม ซึ่งจะทำให้ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้
"การประเมินจะมีการแบ่งระดับปัญหากลุ่มสีเขียว คือเด็กสบายดี หรือสภาวะสีแดงแล้ว คือเด็กอยู่ในภาวะที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จะเป็นเด็กที่มีปัญหาซ้อนกันหลายอย่าง เมื่อมีข้อมูลเข้าสู่"แพลตฟอร์มเติมเต็ม" องค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีสิทธิ์เข้าถึงแพลต ฟอร์มนี้ก็จะเข้าถึงข้อมูลนี้ ทำให้สามารถลงมือช่วยเหลือได้ทันที โดยไม่ต้องไปรอให้เด็กเดินมาแจ้ง แต่จะเป็นการดำเนินการเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นทอดๆ ซึ่งชุมชนที่เป็นคนเก็บข้อมูลก็จะสามารถติดตามได้ด้วย ทำให้ปิดเคสจากสีแดงให้กลายเป็นสีเหลือง หรือเป็นกลุ่มสีเขียวได้"
น.ส.ณัฐยา กล่าวด้วยว่าการทำงานของแพลตฟอร์ม"เติมเต็ม"เป็นการช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำก่อนที่ปัญหาจะเกิด โดยเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่นำมาใช้กับวิธีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดใน4มิติของมนุษย์ที่จะเติบโต" ต่างจากเดิมที่ใช้ระบบตั้งรับที่รอเกิดเหตุแล้วค่อยมาแจ้งเหตุ จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าเกิดเหตุขึ้นจริงหรือไม่ แล้วจะให้การช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งหากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากจะนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้แล้วขยายผลทั่วประเทศ สามารถทำได้เลย ซึ่งสสส.กับหน่วยงานที่พัฒนาแพลตฟอร์มได้ทำและนำร่องการใช้จริงแล้ว ได้มีการทำแซนด์บ๊อกซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯแล้วและขณะนี้ได้รับการตอบรับสนใจอยากจะเอาไปใช้ในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปัตตานี
สำหรับแพลตฟอร์ม"เติมเต็ม” เป็นการใช้ข่ายงานดิจิทัลเป็นแกนประสานข่ายงานสังคมและวางแผนเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชนท้องถิ่นและนักวิชาชีพทั้ง 4 มิติสู่การจัดบริการสังคม คุ้มครองเด็กมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาดำเนินการใน8เขตของกรุงเทพมหานคร คือบางซื่อ วังทองหลาง ปทุมวัน พระโขนง บางนา บางแค หนองแขม คลองสาน โดยสามารถส่งเสริมให้เกิดบูรณาการระหว่างครอบครัว ชุมชนกับหน่วยบริการทั้งในและนอกเขตที่ไร้รอยต่อให้ป้องกันเด็กตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อมิให้อยู่ในภาวะเสี่ยง/ภาวะอันตราย คุ้มครองเด็กกลางน้ำ และเด็กปลายนํ้า โดยในปี2568 มีเป้าหมายจะขยายสู่ภูมิภาคไปยัง จ.ปัตตานี จ.อุบล ราชธานี จ.นนทบุรีและจ.ยะลา ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาวันนี้ตัวแทนผู้ปกครอง แกนนำชุมชน ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และสำนัก งานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, มูลนิธิคุณพ่อเรย์, สมาคมชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) สานักอนามัย กทม., สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์, ศูนย์วิจัยเฉพาะทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบริษัทบีวัน ดิจิทัล จำกัด ได้ร่วมกันวิเคราะห์ “กุญแจสำคัญของการขยายผลจากพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox) สู่บริการสังคมคุ้มครองเด็ก ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” คือ การบูรณาการระบบนโยบาย บริการต่างวิชาชีพ ในระดับชุมชน ท้องถิ่น และภูมิภาค ทั้งภาครัฐ/เอกชนให้ร่วมกันจัด “บริการมุ่งเป้าหมายเฉพาะบุคคล (Personalized and Precision Services)” โดยวิธีสื่อประสานข่าวสารจากทีมสหวิชา ชีพสู่แผนอนาคตชีวิตเด็กที่ติดตามกำกับสัมฤทธิ์ผลได้ใน 1 ปีด้วย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี