โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ “Lymphoma” “ Lymphosarcoma” หรือ “Non-Hodgkin’s Lymphoma” นั้นเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในสุนัขและแมว นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นรวมทั้งคนด้วย
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสุนัข มักเริ่มแสดงอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งตำแหน่งที่พบจุดแรกคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามล่าง และอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณ หน้าอก ช่องท้อง และไขกระดูก หรืออาจลุกลามไปยังในตำแหน่งอื่นๆ เลย ได้แก่ที่ผิวหนัง หรือ ดวงตา เป็นต้น
สำหรับในแมวนั้น มักพบในช่องท้อง ช่องอก และต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย มีรายงานในแมวที่กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของการติดเชื้อ Retrovirus ที่ก่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Feline leukemia; FeLV) และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Feline immunodeficiency disease; FIV) สำหรับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสุนัข ยังไม่มีการระบุแน่ชัดเท่าใดนัก
การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรค มักขึ้นกับรูปแบบและตำแหน่งของเนื้องอกที่อยู่ภายในแต่ละอวัยวะ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่สัตว์ป่วย พบการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย สัตวแพทย์ให้การวินิจฉัย มักจะทำการเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ (Fine needle aspirate; FNA) จะสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในระยะเริ่มต้นได้ ส่วนในแมวที่พบการเกิดโรคบริเวณต่อมไทมัสในช่องอก ก็อาจต้องใช้การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ร่วมกับการเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเยื่อเพื่อวินิจฉัยโรค
ในขั้นตอนต่อไป อาจใช้ การตัดชิ้นเนื้อบางส่วน (biopsy) การย้อมเซลล์ด้วยแอนติบอดีที่จำเพาะ หรือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง และแยกชนิดของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด T-cell หรือ B-cell ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนการรักษาโรคและการพยากรณ์โรคต่อไปได้ครับ
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
การแบ่งระยะนี้ จะเริ่มต้นที่การตรวจต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด การตรวจค่าการทำงานของตับและไต การตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ช่องอกและช่องท้อง การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ร่วมกับการตรวจไขกระดูก ซึ่งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน จึงจะช่วยบอกสภาพร่างกายของสัตว์เลื้ยงและการวางแผนการรักษาได้ดีขึ้น
ระยะของโรค (Stage of Disease) สามารถแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 พบการขยายขนาดของต่อมน้ำเหลืองเพียงต่อมเดียว
ระยะที่ 2 พบการขยายขนาดของต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม แต่จำกัดบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
ระยะที่ 3 พบการขยายขนาดของต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย
ระยะที่ 4 มีการลุกลามของมะเร็งไปยังม้ามและตับ
ระยะที่ 5 มีการกระจายของโรคตามที่กล่าวมาร่วมกับตรวจพบในไขกระดูก
นอกจากนี้ยังแบ่งย่อยตามอาการที่สัตว์ป่วยแสดงออก เช่น การอาเจียน การท้องเสีย หรือการมีน้ำในช่องอกร่วมด้วย
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาได้หรือไม่
การักษาที่นิยมกระทำคือ การให้เคมีบำบัด ซึ่งยาต้านมะเร็งมีทั้งในรูปแบบการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือรูปแบบยากิน ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ อย่างเคร่งครัด
สัตว์เลี้ยงที่ได้รับเคมีบำบัด มักพบอาการ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมกับการติดเชื้อแทรกซ้อน แต่สิ่งที่สัตวแพทย์ต้องคำนึงถึงในการให้การรักษาคือ การปรับปรุงคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้นของสัตว์ป่วย ดังนั้นในบางครั้งจะใช้รูปแบบการรักษาเพื่อการพยุงอาการ โดยการให้ยาในระดับต่ำ เพื่อลดผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลต่อชีวิตของสัตว์ป่วยด้วยครับ
การพยากรณ์โรค (หรือการประเมินผลการรักษา) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจรักษาได้ แต่ในบางครั้งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ซึ่งในกรณีหลังนั้น เป้าหมายสำคัญของการรักษาคือ ให้การรักษาที่หยุดยั้งการแพร่กระจายหรือป้องกันการเกิดโรคใหม่ (Remission) ซึ่งเราจะทราบกันแล้วว่าเซลล์มะเร็งเซลล์สุดท้ายไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากร่างกายได้ แต่ถ้าสามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ การเกิดโรคใหม่จะใช้เวลานานมากขึ้น ซึ่งหมายถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยจะดีขึ้น
ในบางครั้งในระหว่างการรักษา เซลล์มะเร็งก็เกิดภาวะดื้อยาได้เช่นเดียวกัน มีข้อมูลที่รายงานถึงการมีชีวิตรอดของสุนัขป่วย เช่น ในกรณีที่ไม่ให้การรักษาใดๆ มักมีช่วงอายุประมาณ 30-60 วัน ให้การรักษาด้วยากลุ่มสเตียร์รอยด์ มีชีวิตรอดประมาณ 60-90 วัน ถ้าให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด จะมีค่าครึ่งชิวิตรอดประมาณ 6-12 เดือน สำหรับในแมว พบว่าในบางกรณีสามารถรักษาให้หายขาด หรือมีชีวิตรอดนานมากกว่า 12 เดือน ดังนั้นการป้องกัน หรือการตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น น่าจะเป็นสิ่งที่ควรกระทำโดยการปรึกษาสัตวแพทย์นะครับ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี