นกตบยุงหางยาว (Large-tailed Nightjar) เป็นนกประจำถิ่นขนาดเล็ก ที่พบได้บ่อยทั่วทุกภาค ปริมาณปานกลาง แต่มีบางส่วนเป็นนกอพยพระยะสั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caprimulgus macrurus จัดอยู่ในวงค์ Caprimulgidae มีการกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และออสเตรเลียตอนเหนือ ในประเทศไทยพบนกตบยุง 6 ชนิดด้วยกัน คือ นกตบยุงยักษ์ (Great Eared Nightjar), นกตบยุงพันธุ์มลายู (Malaysain Eared Nightjar), นกตบยุงภูเขา (Grey Nightjar), นกตบยุงหางยาว (Large-tailed Nightjar), นกตบยุงเล็ก (Indian Nightjar) และนกตบยุงป่าโคก (Savanna Nightjar)
นกตบยุงหางยาว (Large-tailed Nightjar) อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ บริเวณตามเส้นทางเดินเลียบคลอง หนองน้ำในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ไปจนถึงระดับความสูง 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล วัดความยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร ตัวผู้หัวและลำตัวสีน้ำตาลอมเหลือง แถบกลางหัวเป็นลายสีน้ำตาลเข้ม หัวโต ปากกว้างสั้นสีดำและแบน ดวงตากลมโต มีเส้นขนเป็นหนวดยาว 4-6 เส้น ช่วงโคนปากถึงแก้มเป็นแถบยาวสีขาว เหนือตาทั้งสองข้างมีแถบสีขาวใหญ่พาดจากโคนปากบนไปยังท้ายทอย ใต้คางสีน้ำตาลอ่อนมีลายเข้มออกดำและรอบคอด้านบนสีน้ำตาลแดงมีลายสีน้ำตาลเข้ม ตรงส่วนคอหอยจะมีแถบสีขาวพาด บริเวณช่วงหน้าอก ท้อง ถึงก้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นบั้งๆ ปีกยาวและแคบ ปลายปีกมีลายแถบขาว 4 แถบ หางยาวสีน้ำตาลมีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นลายบั้งและปลายหางด้านล่างมีแถบใหญ่สีขาว 2 แถบ ขาสั้นเล็กและไม่แข็งแรง จึงก้าวเดินได้แค่ช่วงสั้นๆ ตัวเมียมีลักษณะคล้ายกับตัวผู้ แต่ช่วงปีกเป็นสีน้ำตาลแกมแดงมีลายแถบเล็กกว่า ส่วนนกที่ตัวไม่เต็มวัยมีสีเหมือนตัวเมียแต่สีจะจางกว่า
โดยทั่วไปแล้วจะพบนกชนิดนี้ หากินอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ในเวลากลางคืนหรือเวลาโพล้เพล้จนก่อนที่พระอาทิตย์ขึ้น ส่วนในเวลากลางวันจะหลับนอนพักผ่อนซ่อนตัวอยู่บนกิ่งไม้ โดยการทอดตัวไปตามความยาวของกิ่งและเกาะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน หรือหลบหลับนอนกับกองใบไม้แห้งบนพื้นดินที่ดูกลมกลืนกับลวดลายสีขนของมัน นกตบยุงหางยาวเป็นนกกินแมลง อาหารส่วนใหญ่จึงเป็นพวกยุง ผีเสื้อกลางคืน ปลวก มวนต่างๆ แมลงเม่า จิ้งหรีด และแมลงปีกแข็งที่อยู่ตามพื้นดิน มันจะบินจับแมลงอยู่ตามยอดไม้และที่โล่งเรี่ยๆ กับพื้นดิน บินโฉบไปมากระพือปีกขึ้นลงช้าๆ เป็นรูปตัววี สลับกับการร่อนฉวัดเฉวียน ดูคล้ายว่ากำลังตบยุงกลางอากาศ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม นกตัวผู้จะทำท่าพองขนสีขาวที่คอ ส่งเสียงร้องดัง ส่งเสียงร้องดัง จุ๊ก…จุ๊ก...จุ๊ก...จุ๊ก หรือ ตุ๊ก...ตุ๊ก...ตุ๊ก.... พร้อมกับวิ่งไปรอบๆ ตัวเมีย ส่ายหางไปมา นกชนิดนี้จะไม่สร้างรัง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ไว้บนพื้นดินที่มีใบไม้แห้งหรือเปลือกไม้แห้ง ใกล้กับหญ้ารกมีใบไม้พุ่มเตี้ยเป็นที่กำบัง และไข่มีสีครีมอมชมพู มีจุดสีน้ำตาลเทากลมกลืนกับสีของดินและใบไม้ที่รองรับ ทั้งพ่อนกและแม่นกจะช่วยกันกกไข่ อยู่นานประมาณ 16-18 วัน ถ้าถูกรบกวนมันจะย้ายไข่ไปจากที่เดิม โดยการใช้ส่วนอกดันไข่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ที่เหมาะสม เมื่อลูกนกออกจากไข่ได้ 2วัน พ่อแม่ก็จะพาออกจากรังเดิมห่างไปประมาณ 3 เมตร โดยการส่งเสียงเรียกลูกนกไปกินอาหาร พ่อแม่นกจะอ้าปากกว้างเพื่อให้ลูกนกมุดหัวเข้าไปกินอาหารในลำคอ เลี้ยงลูกประมาณ 14 วัน จนลูกนกขนขึ้นเต็มตัว จะออกวิ่งและกระโดดพร้อมกับกระพือปีกหัดบิน และอยู่กับพ่อแม่อีกประมาณ 30-35 วัน จึงแยกไปหากินตามลำพัง นกชนิดนี้กินแมลงเป็นอาหารจึงเป็นการช่วยควบคุมความสมดุลในระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี