จัดโดย คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการโดย คณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็ก และเยาวชนวันจันทร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องรับรอง ๑ - ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ กรุงเทพมหานคร
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)
แนวทางป้องกันปัญหา
1.สะกัดกั้นปัญหา และประคับประคองไม่ให้เด็กออกจากระบบ โดยรณรงค์เชิงป้องกันตั้งแต่เด็กเพื่อให้รู้เท่าทัน โดยใช้การศึกษาเป็นเกราะคุ้มกัน
2.การปราบปรามการฉ้อโกงโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการลงโทษผู้กระทำผิด และต้องจับผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
3. การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการป้องกันเด็กให้ห่างไกลจากปัญหา โดยรณรงค์สร้างความตระหนักกับสาธารณชน รวมทั้งการอบรมผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยง และจัดให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้น
4.สร้างความตระหนักให้สังคมมองว่า “เด็ก” เป็นผู้เสียหาย “เด็ก” คือผู้ถูกกระทำ “เด็ก” คือเหยื่อที่ต้องได้รับความคุ้มครอง
5.ปัญหาการค้าประเวณีเด็กเป็นแค่ปลายเหตุ แต่ความสำคัญอยู่ที่ “ครอบครัว” ดังนั้น จึงควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของครอบครัวให้มีความแข็งแรง
6. หันมาใส่ใจ “ฟังเด็กอย่างลึกซึ้ง” โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กมากขึ้น และมองประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
7.ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากสาธารณชน และประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนของสังคม
8.ให้ความสำคัญกับกระบวนการบำบัดและเยียวยา ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วงจรปัญหา ระหว่างและหลังออกจากวงจรปัญหา
๓.นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษรกล่าวว่า
สังคมโดยทั่วไปอาจมองว่าผู้ชายไปเที่ยวผู้หญิงเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่จริงๆ แล้วถ้าผู้ชายไม่ไปเที่ยวถึงแหล่งที่ขายบริการทางเพศ ความผิดสำเร็จจะไม่เกิด นอกจากนี้ สาเหตุที่จำนวนแหล่งสถานบริการค้าประเวณีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากแนวโน้มความต้องการของผู้ชายที่มีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราทุกคนควรต้องหันกลับมามองตนเอง มากกว่าการมองว่าปัญหาเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกฎหมายควรต้องพิจารณาข้อมูล ปัญหา ผลกระทบอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะบัญญัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป “และสิ่งสำคัญคือ ควรฟังเสียงของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวงจรปัญหา เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป”
ในปัจจุบันได้มีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 สรุปสาระสำคัญดังนี้
ข้อสังเกต การดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้าประเวณี พบว่า ผู้ที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่คือผู้ขายหรือเด็กมากกว่าผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้ซื้อ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอำนาจน้อยที่สุด
ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์
1) นิยามคำว่า “เด็ก” ที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์ในกฎหมายและนโยบายสะท้อนถึงความจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองและความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสม นอกจากนี้ หลักฐานการถูกล่อลวง ใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ ฯลฯ หรือการมีส่วนร่วมทำความผิดอาญาอื่นๆ ไม่ควรนำมาหักล้างสถานะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก
2) กฎหมายต้องไม่เอาผิดกับผู้ถูกละเมิด ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในการเคลื่อนย้ายตนเองหรือไม่ แต่ให้ความสำคัญกับสภาพที่ถูกแสวงหาประโยชน์ และการครอบงำที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่หยิบยกเรื่อง “ยินยอม” “สมัครใจ” หรือการใช้เอกสารเดินทางที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง จะทำให้ผู้เสียหายยากลำบากในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่
3) การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีระเบียบสำหรับการบ่งชี้ผู้เสียหายเป็นเด็กอย่างรวดเร็ว การคัดแยกผู้เสียหายที่เป็นเด็ก นอกจากนี้ ควรต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของเด็กที่เป็นผู้เสียหายในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาคดีอาญากับผู้กระทำความผิด เช่น สอบสวน สืบพยานการชี้ตัว การทำแผนที่เกิดเหตุ (คุ้มครองพยาน) และขณะดำเนินการตามระเบียบเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน
4) การดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่เป็นผู้เสียหายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนคดีอาญาหรือต้องโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ที่ถูกแสวงประโยชน์ เช่น คดีหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย คดีแม่เล้าจิ๋ว คดีขโมยเงิน แหวนเจ้าของร้าน หรือเป็นหนี้เจ้าของร้าน
5) ในกรณีที่เด็กไม่มีญาติพี่น้องหรือผู้ปกครองอยู่ด้วย ควรดำเนินการเพื่อบ่งชี้และสืบหาบุคคลในครอบครัว หลังจากประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษากับเด็กแล้ว ควรดำเนินมาตรการส่งเด็กที่เป็นผู้เสียหายกลับไปยังครอบครัว อันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก
6) ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งตัวเด็กกลับไปยังครอบครัวอย่างปลอดภัยได้ หรือการส่งตัวกลับเช่นนี้ไม่ใช่ประโยชน์สูงสุดของเด็กควรกำหนดวิธีการดูแลเด็กที่เป็นผู้เสียหาย โดยให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของเด็ก ส่วนการจัดสรรทรัพยากรด้านการปราบปราม ป้องกัน นอกจากนำมาใช้ในระดับนโยบาย การสร้างความเข้มแข็งและจัดระบบให้หน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังควรจัดสรรทรัพยากรให้สมดุลกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และการดำเนินคดีที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้รับการร้องขอจากผู้เสียหาย รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรในการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ (ปัจจุบันมีเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาก ทำให้องค์กรหลายแห่งไม่รับการสนับสนุน เนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไข)
7) การดำเนินการควรให้เด็กได้สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองมีสิทธิแสดงความคิดเห็นโดยอิสระเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกับตนเอง โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งตัวกลับไปอยู่กับครอบครัว ความเห็นของเด็กควรได้รับน้ำหนักอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุและความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กแต่ละคน
8) การใช้นโยบายและแผนงานพิเศษเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กที่เป็นผู้เสียหาย เด็กควรได้รับความช่วยเหลือทางด้านร่างกาย จิตสังคม กฎหมาย การศึกษาที่พักอาศัย และบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม (บ้านกาญจนา บ้านฉุกเฉิน บ้าน ฯลฯ) และที่สำคัญการช่วยเหลือต้องปฏิบัติการครบวงจร ไม่ใช่เพียงช่วยออกจากสภาพที่ถูกแสวงหาประโยชน์ ให้ความช่วยเหลือพื้นฐาน อาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค และส่งกลับประเทศต้นทางเท่านั้น ต้องคำนึงถึงการเยียวยาร่างกาย และจิตใจ ชดเชยความเสียหายไม่ละเมิดซ้ำ ตัดสิน ตีตราผู้เสียหาย
9) การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการปกปิดเอกลักษณ์ของผู้เสียหายที่เป็นเด็ก และการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจนำไปสู่การเปิดเผยเอกลักษณ์ของผู้เสียหาย
10) การดำเนินมาตรการเพื่อให้มีการจัดอบรมพิเศษด้านกฎหมายและจิตวิทยาสำหรับผู้ที่ทำงานกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
๕.นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย บรรณาธิการข่าวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์แนวหน้า และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปผลจากเวทีเสวนา ดังนี้
ปัญหาการค้าประเวณีเกิดจาก
-สถาบันครอบครัว ถือเป็นสถาบันที่สำคัญของเด็กที่ต้องทำหน้าที่ในการสั่งสอน หล่อหลอมพฤติกรรมของเด็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จะเห็นได้ว่า บางครอบครัวสอนลูกให้ไปละเมิดผู้อื่น ซึ่งส่งผลให้ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีได้ง่าย ตรงกันข้าม หากครอบครัวมีความอบอุ่น ย่อมเป็นการป้องกันปัญหามิให้เด็กหลุดออกจากระบบ
-สาเหตุหลักที่ผลักดันให้เด็กต้องค้าประเวณี เกิดจากปัญหาความยากจน ปัญหาเด็กเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง จรจัด แรงงานต่างด้าว การคบเพื่อนผิด วัยรุ่นอยากรู้อยากลองและชักชวนกันเข้าสู่อบายมุขในรูปแบบต่างๆ ช่น ยาเสพติด การพนัน ปัญหาที่เกิดจากทัศนคติของพ่อแม่ที่เห็นว่า “ลูก” คือ สมบัติของพ่อแม่ และมีสิทธิขายลูกและส่งลูกออกไปหาเงินโดยไม่สนใจว่าวิธีไหนซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับขู่เข็ญให้ลูกไปขายประเวณี ตลอดจนปัญหาเรื่องความเชื่อ ค่านิยมฟุ้งเฟ้อและเน้นวัตถุนิยม ความเชื่อและค่านิยมรักนวลสงวนตัวที่ลดความสำคัญลง รวมทั้งปัญหาการให้ความรู้และการศึกษาด้านเพศศึกษาในโรงเรียนที่ยังน้อยเกินไป
ดังนั้น ทางออกของปัญหา สามารถดำเนินการได้หลายวิธี ดังนี้
- ควรฟังเสียงของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวงจรปัญหา เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป และเร่งสะกัดกั้นปัญหา และประคับประคองไม่ให้เด็กออกจากระบบ โดยรณรงค์เชิงป้องกันตั้งแต่เด็กเพื่อให้รู้เท่าทัน โดยใช้การศึกษาเป็นเกราะคุ้มกัน
-รณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถือว่าเพศชายเป็นใหญ่ และเพศหญิงมีหน้าที่รองรับความต้องการของชาย รวมทั้งลดละเลิกประเพณี “เลี้ยงดูปูเสื่อ”
- สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมว่า “เด็ก” คือ เหยื่อไม่ใช่ผู้กระทำผิด และการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กคือการทำร้ายเด็ก และเป็นการสร้างบาดแผลทั้งกายและใจแก่เด็กซึ่งย่อม ส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต
- สร้างความรู้และความเข้าใจและปลูกฝังทัศนคติให้เด็กและเยาวชนรู้จักรักตัวเอง สร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้ตนเอง รวมทั้งให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้อง ตลอดจนเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเด็กและเยาวชน
- ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการช่วยเหลือและแนะนำกันเองในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้ปลอดพ้นจากการมั่วสุมหรือถูกชักจูงไปในทางผิด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางให้เด็กที่เคยประสบปัญหาเป็นผู้ให้คำแนะนำบอกต่อเด็กคนอื่น เพื่อมิให้เข้าสู่วงจรปัญหาอีก ซึ่งรูปแบบนี้ย่อมได้ผลมากกว่าการที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็ก ซึ่งอาจถูกต่อต้านได้
การอภิปรายซักถามของที่ประชุม
-ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนสามารถแสวงหาความรู้ได้จากหลายช่องทาง ไม่เฉพาะในโรงเรียน เช่น การเรียนรู้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่าการหล่อหล่อมและปลูกฝังค่านิยมของสังคมก็มีความแตกต่างกัน บางสังคมได้ปลูกฝังค่านิยมให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เน้นวัตถุนิยม ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีความพอเพียง และสอนให้พัฒนาและเคลื่อนย้ายตนเองออกมาจากความยากจนด้วยตนเอง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สังคมและสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็ก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลและได้รับการปลูกฝังและหล่อหลอมจากครอบครัว
-ควรรับฟังเสียงของเด็กทุกกลุ่ม รวมทั้งเด็กที่ตกอยู่ในวงจรของปัญหาเพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็ก และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
-สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายนัก เนื่องจากบางครั้งเด็กที่เคยค้าประเวณีอาจต้องการออกจากวงจรปัญหา แต่เนื่องจากสังคมไทยไม่เปิดโอกาสให้กลับตัวและกลับคืนเข้าสู่สังคมได้โดยง่าย จึงทำให้ต้องถลำลึก ดังนั้นสังคมควรเปลี่ยนทัศนคติให้หันมาเข้าใจและเห็นใจ รวมทั้งเปิดใจรับฟังมากขึ้น
-กฎระเบียบที่เคร่งครัดของสังคมไทย เช่น การกำหนดระเบียบให้ต้องสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดกฎระเบียบบางเรื่องอาจไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงเสนอให้พิจารณาเลือกนำแนวคิดของทางตะวันตกมาปรับใช้ตามความเหมาะสม
ตอบ
- เครื่องแบบนักเรียนที่สวมใส่กันในสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งเสริมความมีระเบียบวินัยแก่นักเรียนรวมทั้งยังเป็นการคุ้มครองมิให้บุคคลอื่นใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่งเพื่อมิให้เกิดความแตกต่างกันและแยกแยะเด็กที่มีฐานะรวยจน แต่อาจไม่ใช้การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดนัก อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการพิจารณากำหนดกฎระเบียบในบางเรื่องมิให้เข้มงวดมากเกินไป เช่น การตัดผมให้สั้นทรงนักเรียน ซึ่งไม่สามารถป้องกันให้เกิดปัญหาการค้าประเวณีได้ เป็นต้น
-การตัดสินและตีตราเด็กที่พลาดพลั้งไปแล้วจนไม่มีพื้นที่ให้เด็กเหล่านั้นได้กลับคืนสู่สังคมได้ เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
-ควรพิจารณาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน หรือสร้างแหล่งเรียนรู้ตามความต้องการและความถนัดของเด็ก และเร่งเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
-ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายและบัญญัติกฎหมายควรต้องปรับตัว และรับฟังเสียงเด็กและความคิดเห็นของเด็กให้มากขึ้น เพื่อมิให้นโยบายและกฎหมายที่กำหนดออกมากลายเป็นการทำร้ายเด็ก
สรุปข้อเสนอทางออกปัญหาการค้าประเวณีเด็ก
การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน
๑.การบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผลอย่างจริงจัง แม้ว่ากฎหมายไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 24) เรื่อง
ความผิดเกี่ยวกับเพศ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่ที่ผ่านมาพบว่าการบังคับใช้กฎหมายอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อบังคับใช้โดยเฉพาะ และเนื่องจากมีความเชื่อว่า “เด็ก” คือ “เหยื่อ” ไม่ใช่ “ผู้กระทำผิด” จึงเห็นควรกำหนดมาตรการและบทลงโทษที่เข้มงวด และรุนแรงมากขึ้น สำหรับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี โดยไม่มีกระบวนการไกล่เกลี่ยยอมความ หรือลดหย่อนโทษใดๆ แม้ว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยสมัครใจก็ตาม เนื่องจากเด็กเป็นบุคคลที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจเพียงพอ
๒.การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อสังคม โดยนำเสนอภาพและยกย่องบุคคลที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสมและตำหนิบุคคลที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยใช้กรณีปัญหาการค้าประเวณีเด็กในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นกรณีศึกษา รวมทั้งปิดช่องทางการเข้าถึงแหล่งซื้อ-ขายและค้าประเวณี
การแก้ไขปัญหาในระยะยาว
๑.ครอบครัว เป็นสถาบันหลักที่ต้องทำหน้าที่การสั่งสอน อบรม และหล่อหลอมความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมของเด็กให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเข้าสู่วงจรปัญหาการค้าประเวณีเด็ก
๒.สังคมควรหันมาใส่ใจและรับฟังเสียงของเด็กอย่างลึกซึ้ง โดยการปลูกฝังความเชื่อและค่านิยมที่ดีผ่านกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยให้เด็กและเยาวชนทุกระดับและทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน เป็นต้นเพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยม/ทัศนคติ/ความเชื่อให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี