ต้อหิน (Glaucoma) จัดเป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรแบบแก้ไขไม่ได้ และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดตาบอดเป็นอันดับที่ 2 รองจากต้อกระจก เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ในระยะแรกที่มีการทำลายเส้นประสาทตา ยกเว้นในผู้ที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันที่จะมีอาการปวดตาอย่างฉับพลัน และเป็นโรคที่ตรวจโดยจักษุแพทย์เท่านั้น ดังนั้นการรู้จักและเข้าใจโรคต้อหินจึงช่วยป้องกันและลดอุบัติการณ์การสูญเสียการมองเห็นได้
ต้อหินเกิดจากภาวะความดันในลูกตาสูง ซึ่งมีผลทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม รวมถึงเส้นประสาทตาถูกทำลาย ทำให้สูญเสียการมองเห็นจากการแคบลงของลานสายตา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ในที่สุด ต้อหินสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยอัตราการเกิดโรคจะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน
● ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
● ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
● ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
● สูบบุหรี่เป็นประจำ
● ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก หรือสายตายาวมาก
● ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
● ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางตาแบบเรื้อรัง เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ หรือมีการตรวจพบความดันตาสูง
● การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
ชนิดของต้อหิน
โรคต้อหินมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ โรคต้อหินมุมเปิด และโรคต้อหินมุมปิด
● ต้อหินมุมเปิด (Open-angle glaucoma) เป็นต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บปวดจนกระทั่งมีการทำลายเส้นประสาทตามากแล้ว และมักเกิดกับตาทั้ง 2 ข้าง ทำให้สูญเสียการมองเห็น ลานสายตาแคบลง จนระยะสุดท้ายสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
● ต้อหินมุมปิด (Angle-closure glaucoma) เกิดจากการมีความดันลูกตาสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากเคลื่อนตัวและการเปลี่ยนตำแหน่งของม่านตาดำ (Iris) เข้ามาปิดขวางทางน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (Aqueous outflow) ทำให้ผู้ป่วยในระยะเฉียบพลันเกิดอาการปวดตาอย่างรุนแรง มองเห็นแสงรัศมีรอบๆ ดวงไฟ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และตามัวลงอย่างรวดเร็ว ส่วนภาวะต้อหินมุมปิดแบบเรื้อรังจะไม่มีอาการปวดตา แต่จะมีภาวะความดันตาสูง และตามัวลง ลานสายตาแคบลง จนระยะสุดท้ายเกิดการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
การรักษา
เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายในการรักษาโรคต้อหิน คือ การควบคุมความดันลูกตา เพื่อประคับประคองไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากยิ่งขึ้น ช่วยคงสภาพการมองเห็น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย โดยทางเลือกในการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของโรค เช่น การรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตา การทำเลเซอร์ และการรักษาด้วยการผ่าตัด (Glaucoma surgery) หลังการรักษาควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอนัดเพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากการใช้ยา
การป้องกัน
ควรแนะนำญาติหรือคนรู้จักที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจสายตาจากจักษุแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก หากตรวจพบความผิดปกติในระยะแรกเริ่ม จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดอุบัติการณ์ของการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
ข้อมูล : ศูนย์จักษุและเลสิก โรงพยาบาลปิยะเวท
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี