ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงในเด็กเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยพอสมควร โดยมีอุบัติการณ์ถึงประมาณร้อยละ 3 ในเด็กชายที่คลอดครบกำหนด และอาจสูงถึงร้อยละ 33 ในทารกคลอดก่อนกำหนด ภาวะนี้ เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปในชื่อว่า ทองแดง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าการที่อัณฑะไม่อยู่ในถุงอัณฑะตามที่ควรจะเป็นนั้น อาจส่งผลเสียให้แก่บุตรหลานของท่านได้อย่างไรบ้าง
ปกติอัณฑะของเด็กชายนั้นประกอบด้วยเซลล์ 2 กลุ่ม คือเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนส์เพศชาย และเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างตัวอสุจิ โดยลูกอัณฑะของเด็กนั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เด็กยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ อยู่ที่ด้านหลังของช่องท้อง ระดับใกล้เคียงกับไตของเด็ก ต่อมาเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตมาจนถึงสัปดาห์ที่ 24-26 อัฌฑะจึงค่อยๆ เลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิม ผ่านขาหนีบลงมาอยู่ที่ถุงอัณฑะ โดยปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้อัณฑะเลื่อนตัวลงมาได้นั้นมีหลายอย่าง เช่น การมีโครโมโซมเพศชายที่ปกติ การมีความดันในช่องท้องเป็นปกติ การมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า gubernaculum ยึดโยงระหว่างตัวอัณฑะมาที่ถุงอัณฑะ ซึ่งอิทธิพลของฮอร์โมนส์หลายๆ อย่างจะทำให้เนื้อเยื่อนี้หดสั้นลง ดึงเอาอัณฑะมาอยู่ในถุงได้ เป็นต้น ในรายที่มีความผิดปกติอย่างไรอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้อัณฑะไม่ลงถุง โดยมักพบอยู่ที่บริเวณขาหนีบถึงประมาณร้อยละ 66-75 มีเพียงส่วนน้อยที่ยังอยู่สูงถึงในช่องท้อง โดยอาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้
ส่วนสาเหตุที่อัณฑะควรจะต้องลงมาอยู่ในถุงนั้น ก็เพราะว่าถุงอัณฑะจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย 2-4 องศา เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและทำงานของของเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ นอกจากนี้ถุงอัณฑะยังมีกล้ามเนื้อบางๆทำหน้าที่ดึงรั้งลูกอัณฑะขึ้นไปชิดตัวได้ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไป และเมื่อลูกอัณฑะลงมาอยู่ในถุงเรียบร้อยแล้ว ก็จะเกิดยึดกับตัวถุงอัณฑะ ป้องกันการเกิดการบิดหมุนได้ ดังนั้นในกรณีที่อัณฑะไม่ลงถุง อัณฑะก็จะต้องอยู่ในที่ๆ มีอุณหภูมิสูงเกินไปเป็นเวลานาน อาจจะทำให้การสร้างอสุจิผิดปกติไปจนเด็กมีบุตรยาก หรือเป็นหมันในภายหลังได้ และเมื่อเด็กโตจนอายุ 30-40 ปียังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งของอัณฑะมากกว่าคนปกติถึง 5-60 เท่า นอกจากนี้อัณฑะที่ค้างอยู่บริเวณขาหนีบ ไม่มีการยึดตรึงให้อยู่กับที่ อาจเกิดการบิดหมุนของอัณฑะหรือเกิดการกระทบกระแทกจากอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติ และยังพบว่าเกิดไส้เลื่อนขาหนีบมากกว่าเด็กปกติด้วย นอกจากเหตุผลทางการแพทย์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว การมีอัณฑะเพียงข้างเดียว หรือไม่มีอัณฑะในถุงเลย ยังอาจจะเป็นปมด้อยของเด็ก ถูกล้อเลียนได้อีกด้วย
ในเด็กที่เกิดมาแล้วพบว่าอัณฑะไม่ลงถุงนั้น แนะนำให้รอดูอาการจนอายุประมาณ 6-12 เดือน เพราะในช่วงเวลานี้ยังมีโอกาสที่อัณฑะจะเคลื่อนตัวลงไปอยู่ในถุงได้เอง แต่ถ้าอายุมากไปกว่านี้พบว่าอัณฑะมักไม่สามารถลงไปได้เองแล้ว และยังเริ่มตรวจพบการเสื่อมของเซลล์ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว จึงควรได้รับการรักษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือการรักษาทางยา และการรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาทางยา ทำโดยการให้ฮอร์โมนส์ฉีด 4-6 ครั้ง ได้ผลสำเร็จประมาณร้อยละ 20-60 โดยได้ผลดีในรายที่อัณฑะไม่ลงถุงทั้ง 2 ข้างมากกว่า ผลข้างเคียงของการรักษาคือมีขนาดอวัยวะเพศใหญ่เกินวัย ซึ่งก็มักจะลดขนาดลงจนใกล้เคียงกับปกติได้หลังจากหยุดยาไปสักระยะหนึ่ง ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัดนั้น แนะนำให้ทำในอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ในรายที่อัณฑะอยู่ที่บริเวณขาหนีบอยู่แล้วก็จะทำการผ่าตัดที่บริเวณขาหนีบได้เลย โดยจะทำการเลาะ “ขั้ว” ของอัณฑะซึ่งประกอบด้วยท่อน้ำเชื้อและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงอัณฑะให้ได้ความยาวเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะสามารถดึงอัณฑะลงไปอยู่ในถุงได้ ในบางครั้งถ้าเส้นเลือดสั้นเกินไป ก็อาจต้องตัดเส้นเลือดหลักที่มาเลี้ยงอัณฑะแล้วใช้เส้นเลือดที่มาทางด้าน gubernaculum แทน สำหรับในกรณีที่อัณฑะอยู่สูง อาจต้องใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง (laparoscopy) เพื่อดึงเอาอัณฑะที่อยู่สูงนั้นลงมาให้ได้ การผ่าตัดมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงจากการดมยาสลบ การเกิดปัญหาอัณฑะฝ่อหลังการผ่าตัด หรือการที่อัณฑะกลับขึ้นไปที่เดิมหลังจากผ่าตัด เป็นต้น แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ ค่อนข้างน้อย
เนื่องจากผลเสียของการที่เด็กมีภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมีหลายประการ ประกอบกับการรักษายังสามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากนักและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จึงหวังว่าท่านผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่มีอาการนี้จะได้นำเด็กไปรับการตรวจรักษากับกุมารแพทย์หรือกุมารศัลยแพทย์ใกล้บ้านท่านโดยไม่รอช้าจนเกินเวลาที่เหมาะสมไป
แพทย์หญิงศนิ มลกุล
ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารศัลยศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี