สัปดาห์ที่แล้วเราได้รู้จักเห็บและอันตรายของเห็บกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาคุยเรื่องเห็บกันต่อครับ
@ วงจรชีวิตของเห็บเป็นอย่างไร
1. เริ่มจากเห็บตัวเต็มวัย (Adult) ที่มี 8 ขา (เช่นเดียวกับแมงมุง) เห็บเต็มวัยตัวเมียซึ่งได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะกินเลือดสุนัขจนตัวป่อง (engorge) คล้ายเมล็ดถั่ว เมื่อถึงเวลาวางไข่ เห็บตัวเมียนี้จะถอนส่วนปากที่ฝังในผิวหนังออกจากตัวสุนัขไปหาที่วางไข่ ตามซอกต่างๆ ในบ้าน ตามผนัง กำแพง เพดาน หรือมุมที่ค่อนข้างมืด และชื้น รวมถึงสถานที่นิ่งๆ เงียบๆ มีไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว
2. จากนั้นจะออกไข่ (Eggs) ซึ่งใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ มีประมาณ 1,000-3,000 ฟอง สีน้ำตาลเข้ม มีขนาดเล็กมากซึ่งจะมีไข (wax) หุ้มอยู่เพื่อกันไม่ให้แห้ง ส่วนตัวเมียที่ออกไข่แล้วจะเหี่ยวและตายลงในที่สุด
3.ไข่ของเห็บจะฟักเป็นตัวอ่อน (Larva) มีขนาดเล็กมาก มี 6 ขา ตัวอ่อนเหล่านี้จะไต่ขึ้นบนตัวสุนัข เวลาสุนัขเดินผ่าน เรามักจะเห็นเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนผิวหนังสุนัขหรือตามพื้นผนังสีอ่อน (ตัวอ่อนของเห็บสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินน้ำหรืออาหารเป็นเวลานานหลายเดือน) ตัวอ่อนของเห็บจะดูดเลือดสุนัขจนตัวใหญ่ขึ้น แล้วหลุดออกจากตัวสัตว์อีกครั้ง เพื่อไปลอกคราบ
4. จากนั้นตัวอ่อนจะกลายเป็นตัวกลางวัย (Nymph) สีน้ำตาลแดงมี 8 ขา มีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนอย่างเห็นได้ชัด มีขนาดประมาณปลายหัวปากกา และกลับขึ้นไปบนตัวสัตว์อีกครั้ง กินเลือด และเปลี่ยนสีเป็นสีเทาเข้ม มองแล้วเหมือนสะเก็ดหรือไฝที่ผิวหนังสุนัข และจะหลุดออกจากตัวสัตว์และลอกคราบอีกครั้ง กลายเป็น “ตัวเต็มวัย” แล้วจะกลับขึ้นไปบนตัวสุนัขอีกครั้ง ในระยะนี้ถ้าไม่มีสุนัขเผลอเดินมาใกล้ๆ
เห็บตัวเต็มวัยนี้ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดย “ไม่กินเลือด” อาจอยู่ได้นานถึง 18 เดือนเลยทีเดียวครับ แต่ถ้ามันได้ดูดเลือดสุนัข มันจะกินเลือดเต็มที่เป็นเวลา 1-7 สัปดาห์ จนสมบูรณ์พันธุ์ พร้อมที่จะผสมพันธุ์เพื่อออกไข่ต่อไป
จะพบว่า เห็บสามารถอยู่จนครบวงจรชีวิตได้รวดเร็วภายในระยะเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ จะเห็นได้ว่าเห็บแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝน ถ้าเจ้าของสุนัข
ไม่เอาใจใส่ จะพบว่ามีเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายในบ้าน เป็นจำนวนมากจนน่าตกใจเลยทีเดียวเลยครับ
@ การติดเห็บของสุนัข
สุนัขมักจะติดเห็บจากสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่จากตัวสุนัขด้วยกันเอง ทั้งนี้เพราะเห็บจะหลุดจากตัวสุนัขเมื่อถึงเวลาลอกคราบเท่านั้น และจะไม่มีการเปลี่ยนไปดูดเลือดสัตว์ตัวอื่นกลางคัน
@ การกำจัดเห็บ
เห็บจัดเป็นพาราไซต์ที่มีเปลือกที่ยืดหยุ่นและแข็งแรงมาก การกำจัดเห็บจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย การกำจัดเห็บต้องทำทั้งที่ตัวสุนัข และสิ่งแวดล้อมในบริเวณบ้านด้วย
*** อย่าลืมนะครับว่า เห็บตัวเมียเพียงตัวเดียว สามารถวางไข่และแพร่พันธุ์ให้ลูกหลานได้เป็นเห็บอีก 1,000-3,000 ตัวทีเดียว ดังนั้นควรกำจัดเห็บทั้งในบริเวณที่เห็บอาจซ่อนตัวลอกคราบอยู่ และรอการกลับขึ้นมาบนตัวสุนัข เช่นบริเวณสนามหญ้า มุมห้อง รอยแตกผนัง พื้นบ้านใต้เบาะรองนั่ง หรือโซฟาด้วยครับ
ปัจจุบันวิธีกำจัดเห็บนั้นมีหลายแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ 1.ยาหยดหลัง 2.สเปรย์ 3.ปลอกคอ 4.แชมพู 5.แป้ง 6.ยาฉีด 7.ยากิน 8.ยาผสมน้ำแช่ตัวสัตว์ ซึ่งแต่ละประเภท ก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน (ซึ่งผมจะหยิบมาคุยกันในครั้งต่อไปครับ) หากใช้ไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้ประ สิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นั้นไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งหากใช้แบบไม่ระวัง หรือไม่ถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายทั้งกับสุนัขและตัวคุณเองได้ครับ
ส่วนเรื่องการที่เห็บเข้าไปอาศัยออกไข่ใน “หูและโพรงจมูกของคน”นั้น เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดได้โดยอุบัติเหตุแต่เกิดได้ “ยาก” มากครับ เนื่องจาก 1) โดยธรรมชาติแล้ว จมูกและหู จะเป็นอวัยวะที่ไวต่อการรับสัมผัสมาก ปฏิกิริยาการป้องกันตนเองของคน หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ร่างกายก็จะปฏิเสธด้วยการจาม หรือเกาและพยายามเขี่ยสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา และ 2) ที่สำหรับวางไข่ของเห็บมักจะเป็นที่ที่ค่อนข้างมืด เงียบ ชื้น และมักไม่มีการสั่นสะเทือนหรือมีการเคลื่อนไหวน้อยด้วยครับ
@เราสามารถป้องกันเห็บไม่ให้สัมผัสหรือเข้าหูเราได้โดย
1. หมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณที่นอนและภายในบ้านให้สะอาด
2. กรณีที่เราเลี้ยงสุนัขแบบใกล้ชิด ถึงขั้นให้ขึ้นมานอนกับเรานั้น เรายิ่งต้องดูแลทำความสะอาดและหมั่นกำจัดเห็บที่ตัวสุนัขให้ดี เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขของเราไม่มีเห็บและหมัดที่จะตกหล่นบนที่นอนและอาจเข้าหูเราได้
3. แม้เราจะไม่ได้เลี้ยงสุนัข แต่หากมีสุนัขจรจัดที่อยู่แถวหน้าบ้าน เห็บจากสุนัขจรจัดนั้น ก็มีโอกาสหลุดรอดเข้ามาในบ้านได้ ดังนั้นเราอาจจะต้องหมั่นใช้สเปรย์กำจัดเห็บหรือใช้ยาชนิดผสมน้ำราดบริเวณพื้นหน้าบ้านเพื่อกำจัดเห็บอีกทางหนึ่งด้วยครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี