รู้จักลักษณะอาการ สาเหตุการเกิดโรค และแนวทางการรักษา
อาการที่พบได้มีดังต่อไปนี้
1.ความผิดปกติทางความคิด คือ อาการหลงผิด (delusion) เช่น หลงผิดหวาดระแวงว่าจะมีคนคอยจับผิด ทำร้ายเขา หรือ หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญ เป็นต้น
2.ความผิดปกติทางการรับรู้ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน (hallucination) ได้ยินเสียงหูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดคุยโดยไม่เห็นตัวคนพูด
3.ความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ ผู้ป่วยมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น วุ่นวายกว่าปกติ พูดจาเนื้อหาแปลกๆ หรือ นิ่งเฉยมากผิดปกติ เช่น ไม่ขยับตัว ไม่ขยับแขนขา ไม่ยอมลุกไปไหน หรือ แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมไม่เข้ากับบริบทที่อยู่ เช่น เดินไหว้ เดินกราบ สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พูดพึมพำพูดโต้ตอบคนเดียว ยิ้มหัวเราะอยู่คนเดียว หรือ มีอาการไม่ค่อยดูแลสุขอนามัยความสะอาด เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ปล่อยปละละเลยจนดูสกปรก เป็นต้น
4.ความผิดปกติด้านความรู้สึก เช่น ไม่แสดงอารมณ์ หรือ การแสดงออกของอารมณ์น้อยกว่าปกติ หรือ มีลักษณะเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น หรือ แสดงอารมณ์ออกมาไม่เหมาะสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
5.ความผิดปกติด้านสังคมหรือหน้าที่การงาน ตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วยผู้ป่วยจะมีความบกพร่องในด้านการเรียน การงาน ด้านสัมพันธ์ ชอบเก็บตัวไม่เข้าสังคม หรือ การดูแลตนเองแย่ลง
6.ระยะเวลาที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องนานอย่างน้อย6 เดือนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่อเนื่องมาเป็นปี หรือ หลายปี
สาเหตุการเกิดโรค
1)ปัจจัยด้านพันธุกรรม ญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าประชากรทั่วไป ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสมากขึ้น
2)ปัจจัยด้านสมองเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า สารโดปามีน และสารซีโรโตนิน และพบมีลักษณะกายวิภาคของสมองผิดปกติ เป็นต้น
การรักษา จำเป็นต้องพบแพทย์ โดยมีแนวทางการรักษาต่างๆ ดังนี้
1.การรักษาด้วยยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองทางความคิดและพฤติกรรมที่ขาดสมดุล ให้กลับมาสมดุล จึงจะทำให้ความคิดและพฤติกรรม กลับมาเป็นปกติ ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้น การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ
2.การดูแลรักษาด้านจิตใจ และสังคม
- ความเข้าใจ การยอมรับจากคนในครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมาก
- คนใกล้ตัวช่วยดูแลการรับประทานยาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีความเข้าใจว่าตนเองไม่ป่วย จึงไม่ค่อยร่วมมือรับประทานยา
3. การฟื้นฟูทักษะการฝึกดูแลตัวเอง การเข้าสังคม และการฝึกอาชีพที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความภูมิใจในตัวเองของผู้ป่วย เพิ่มรายได้ ลดการเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิดและสังคมได้
สาเหตุที่ทำให้โรคกำเริบ
1) ขาดยา เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด
2) ความเครียด ปัจจุบันมองว่า ความเครียด หรือ สาเหตุด้านจิตใจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นผลจาก พันธุกรรม และความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแต่ความเครียด เช่น ขาดความเข้าใจจากคนในครอบครัว และสังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้โรคนี้หายช้า หรือ กำเริบได้
บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
รับรองโดย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี