คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ในคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษาประเด็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑.ผู้แทนจากสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย ได้กล่าวถึง สถานการณ์ที่น่าห่วงใย ว่า
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ทั่วโลกในปี ๒๕๕๖ โดยประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง ๗๔ คน ต่อ ๑,๐๐๐ คน เท่ากับประเทศมาเลเซีย และอยู่อันดับที่ ๒ รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งมีสถิติอยู่ที่ ๖๕ คน ต่อ ๑,๐๐๐ คน หรือสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค แต่มีสถิติเพียง ๖๙ คนต่อ ๑,๐๐๐ คนเท่านั้น ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานจากทั่วโลกอยู่ที่ ๖๕ คนต่อ ๑,๐๐๐ คน
- ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เยาวชนไทยตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเป็นลำดับที่ ๑ ของอาเซียน โดยประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ รายต่อปี
หญิงชายได้รับผลกระทบด้านสุขภาพทางเพศต่างกัน
- ร้อยละ ๘ ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเพราะถูกบังคับ
- มีผู้หญิงถูกข่มขืนวันละ ๑๔ ราย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์ ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ได้มากกว่าปกติเพราะไม่ทันป้องกันตัว
- กรณีการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดคิดจะเกิดอะไรขึ้นกับหญิงและชาย อาจตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูก โรคทางกรรมพันธุ์ และอื่นๆ
- ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ๑๔,๐๐๐ ราย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ในจำนวนนี้ร้อยละ ๔๐ ติดจากสามีและคู่ครอง ส่วนใหญ่ที่ติดอายุ ๑๕ - ๒๔ ปี มีวัยรุ่นติดเชื้อ ๓๐,๐๐๐ คน
- เยาวชนที่เป็นนักเรียนอายุ ๑๕-๑๙ ปี มีการติดเชื้อกามโรคมากขึ้น
- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สื่อทุกรูปแบบมีเนื้อหาผลิตซ้ำความรุนแรงทางเพศ
- วัยรุ่นมีแนวโน้มคลอดเพิ่มขึ้นและคลอดเมื่ออายุน้อยลง โดยเฉพาะวัยรุ่นอายุ ๑๕-๑๗ ปี สาเหตุที่วัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการไม่ได้ป้องกัน
- วัยรุ่นจำนวน ๑ ใน ๓ ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ถุงยางอนามัย และเพียงร้อยละ ๑๐.๗ เท่านั้นที่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- ในขณะเดียวกันวัยรุ่นกลุ่มที่ชอบเที่ยวในสถานที่เริงรมย์ เช่น ผับ บาร์ จะมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดร่วมด้วยจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงกว่ากลุ่มอื่น
- ทั้งนี้พบว่าวัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ที่มีการตั้งครรภ์ตัดสินใจทำแท้งเถื่อน ร้อยละ ๕๓ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีผลมาจากการทำแท้งถึงร้อยละ ๒๘.๕ และที่สำคัญมากกว่าร้อยละ ๒๕ ของวัยรุ่นหญิงกลุ่มนี้กลับมาตั้งครรภ์ภายในเวลา ๒ ปี
- ด้วยเหตุที่ร่างกาย ระบบการเจริญพันธุ์ ค่านิยม ความคิดความเชื่อของสังคมมีมุมมองต่อผู้หญิงแตกต่างไปจากผู้ชายจึงทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพทางเพศ มีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างและเผชิญปัญหามากกว่าชาย
๒.ผู้แทนคณะทำงานเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund - UNFPA) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า
ข้อมูลจากการวิจัยในประเทศ
- พบว่าการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นมีมากในพื้นที่นอกเขตเทศบาล ในกลุ่มที่มีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา ในกลุ่มฐานะเศรษฐกิจของครัวเรือนปานกลางไปจนถึงยากจน
- การถูกบังคับขืนใจ การละเมิดทางเพศ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง
- อัตราการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นมีไม่ถึงเพียงร้อยละ ๓๐ ทั้งหญิงและชายการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเนื่องจากการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษารอบด้านยังไม่ครอบคลุมในสถานศึกษาทุกแห่ง
- จากสถิติพบว่า วัยรุ่นในกลุ่มอายุ ๑๕-๑๙ ปี ที่ออกจากระบบการศึกษาและทำงานแล้ว ส่วนใหญ่ทำอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือมากนัก และประสบปัญหาในการหางานทำ
บทเรียนจากนานาชาติ : นโยบายและมาตรการที่ได้ผล
- การทำงานเชิงรุกเพื่อคุ้มครองเด็กหญิงอายุน้อยกว่า ๑๕ ปีไม่ให้กลายเป็น “เด็กหญิงแม่” ในมิติทางกฎหมาย การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงอายุไม่ถึง ๑๕ ปี นับเป็นความผิดอาญาและหากเด็กหญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายโดยความสมัครใจ การเกิดกรณี “เด็กหญิงแม่” จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้และควรทำทันที แต่จุดอ่อนคือมักไม่มีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดมากพอว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นใครและจะเข้าถึงได้อย่างไร จึงควรปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมเด็กกลุ่มวัยนี้ และรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน ปัญหาความรุนแรงและการบังคับขืนใจ เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบระบบป้องกันและช่วยเหลือที่สอดคล้องกับกลุ่มวัย
- ลดการตั้งครรภ์และการคลอดซ้ำในหญิงที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี โดยให้ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และการคุมกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ๓-๕ ปี และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มพ่อแม่ วัยเยาว์ ซึ่งควรเป็นบริการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ควรมีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ชัดเจน
- มาตรการการคุมกำเนิดควรมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและชีวิตประจำวันของวัยรุ่นกลุ่มเป้าหมาย โดยประเมินประสิทธิผลและความเป็นไปได้ของการจัดบริการถุงยางอนามัยและการคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบแก่วัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงทั้งภายในและนอกสถานพยาบาล โดยคำนึงถึงการให้บริการที่รักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ตลอดจนการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้วัยรุ่นสามารถร่วมตัดสินใจเรื่องการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่กีดขวางการเข้าถึงบริการเหล่านี้ เช่น อายุที่สามารถเข้ารับบริการได้โดยสมัครใจและไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง
- ลงทุนเรื่องการศึกษาถ้วนหน้าของเด็กทุกคน กล่าวคือต้องให้หลักประกันว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กรณีที่ตั้งครรภ์ ต้องให้หลักประกันว่าการตั้งครรภ์จะไม่เป็นปัจจัยส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับ และมีการดำเนินงานที่ละเอียดอ่อนเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก มีการศึกษาพบว่าหากแม่วัยรุ่นได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่อง ได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรระหว่างที่เรียนต่อ ได้รับทุนการศึกษาหรือเลี้ยงดูตนเองและลูก และมีการช่วยเหลือดูแลด้านให้การปรึกษาที่ละเอียดอ่อนจะเป็นมาตรการที่ช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ซ้ำและเพิ่มคุณภาพชีวิตแม่วัยรุ่นและลูกในระยะยาว
- วัยรุ่นต้องได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่รอบด้าน และบริการสุขภาพเมื่อตั้งครรภ์ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพศศึกษาที่รอบด้านควรเป็นหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับวัยรุ่นหญิงชาย เริ่มต้นตั้งแต่ยังอายุน้อย โดยจัดหลักสูตรให้เหมาะสมกับช่วงวัย และครอบคลุมทั้งมิติกายภาพ พัฒนาการของร่างกาย สัมพันธภาพระหว่างบุคคล การดูแลสุขภาพ และสิทธิที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่รอบด้าน ควรจัดบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมกับวัยรุ่นโดยต้องเป็นบริการที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย
- เพิ่มการป้องกันกรณีการแต่งงาน/สมรส/อยู่กินของเด็กและวัยรุ่น รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ควรเริ่มต้นจากการแก้ไขกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการสมรสของผู้เยาว์และควรกำหนดอายุของการสมรสว่าไม่ควรต่ำกว่า ๑๘ ปี ตามหลักการสิทธิเด็ก นอกจากนี้ควรมีการดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขค่านิยมที่ยอมรับการสมรสหรืออยู่กินกันของเด็ก การส่งเสริมค่านิยมที่เสริมพลังอำนาจในตนเอง (self - esteem) ของวัยรุ่น การส่งเสริมเรื่องการศึกษาและทักษะอาชีพ เพิ่มการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของวัยรุ่นเพื่อให้หาเลี้ยงตัวเองได้ในกรณีที่ออกจากระบบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานด้วยกันแบบภาคีหุ้นส่วน นอกจากนี้ ในกรณีของการป้องกันความรุนแรงทางเพศ ควรเน้นหนักดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของเด็กผู้ชายและวัยรุ่นชายเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงค่านิยมเด็กหญิงและวัยรุ่นหญิงเรื่องการไม่ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย และปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องการละเมิดทางเพศให้มีความศักดิ์สิทธิ์
- สนับสนุนโครงการที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในลักษณะของโครงการที่มีความร่วมมือในหลายระดับ และความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยควรหลีกเลี่ยงโครงการเชิงเดี่ยว ดำเนินการโดยหน่วยงานเดียวหรือมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเดียว เนื่องจากระดับประสิทธิผลไม่เพียงพอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาซึ่งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายในสังคม
- ดึงการมีส่วนร่วมของผู้ชายและเด็กชายอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นสนับสนุนโครงการที่ออกแบบโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงฐานคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลกว่าการดำเนินงานให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างหญิงชาย เท่านั้น
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา
โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี