ท่านเจ้าของสุนัขหลายท่านคงเคยประสบปัญหา “สุนัขตัวร้อน มีไข้” บางท่านไม่รู้จะทำอย่างไรก็เอายาคนให้กิน คนที่เอาใจใส่หน่อยก็พาไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่นๆเรื่องภาวะการเป็นไข้นี้ สามารถเจอได้ทุกบ้าน ดังนั้นวันนี้ผมมีคำแนะนำดีๆ มาฝาก เรื่อง “ภาวะไข้และคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อช่วยลดไข้สำหรับสุนัข” จาก ผศ.ร.ท.หญิง สพ.ญ.ดร.เนาวรัตน์ สุธัมนาถพงษ์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุณหภูมิร่างกายที่ปกติของสุนัขอยู่ที่เท่าไหร่?
อุณหภูมิร่างกายปกติของสุนัขอยู่ที่ 37.5-39.2 องศาเซลเซียส (99.5-102.5 องศาฟาเรนไฮด์) ซึ่งจัดว่าสูงกว่าของคน (ในคน 36.4-37.5 องศาเซลเซียส
หรือ 97.6-99.6 องศาฟาเรนไฮด์)
อาการของสุนัขที่มีไข้เป็นอย่างไร?
สุนัขที่มีภาวะไข้มักแสดงอาการดังต่อไปนี้
• ตัวสั่น
• ตาแดง
• นอนซม
• อาเจียน
• เบื่ออาหาร ไม่กินอาหาร
• ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่ลุกขึ้นมาวิ่งเล่น
• เมื่อเราใช้ปลายนิ้วสัมผัสที่จมูกสุนัขแล้ว รู้สึกว่าจมูกอุ่นและแห้ง แสดงว่าอาจจะมีไข้ นอกจากนี้หากจับบริเวณใบหู แล้วรู้สึกอุ่น ก็ถือว่ามีภาวะไข้เกิดขึ้น
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ในสุนัข?
โดยทั่วไป ภาวะไข้มักเกิดจากการที่ร่างกายของสุนัข พยายามต่อสู้กับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อหรือการอักเสบ ตัวอย่างเช่น
• ไข้จากการติดเชื้อ หรือมีฝีที่ฟัน
• ไข้จากการติดเชื้อที่หู ภาวะหูอักเสบ
• ไข้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส
• ไข้จากการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
• ไข้จากการติดเชื้อของอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอด
• ไข้จากการติดเชื้อจากแผลที่ถูกกัด หรือแผลจากรอยขีดข่วน
• ไข้จากการได้รับสารพิษ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น พืชที่เป็นพิษ ยาหรืออาหารของคนที่เป็นพิษต่อสุนัข เช่น น้ำตาลเทียมหรือไซลิทอล (xylitol)
สำหรับสุนัขที่มีไข้ ในเบื้องต้นควรดูแลอย่างไร?
สำหรับสุนัขที่มีไข้ ในเบื้องต้น เราสามารถช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงได้ โดยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นเช็ดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณใบหูและเท้าขณะเช็ดตัว การใช้พัดลมเป่าที่ตัวบนขนที่เปียกหมาดๆ อยู่ ช่วยลดอุณหภูมิลงได้เร็วขึ้น
เพื่อให้แน่ใจว่าไข้ลดหรือไม่ ควรตรวจสอบอุณหภูมิร่างกาย โดยใช้ปรอทวัดไข้วัดอุณหภูมิทางทวารหนักของสุนัข หากอุณหภูมิร่างกายลดลงถึง 39.5 องศาเซลเซียส (ประมาณ 103 องศาฟาเรนไฮด์) ให้หยุดการช่วยระบายความร้อนได้(ไม่ควรลดอุณหภูมิลงเร็วเกินไป)
นอกจากนี้ สำหรับสุนัขที่มีไข้ ควรพยายามให้ดื่มน้ำปริมาณเล็กน้อยบ่อยๆ เพื่อให้มีความชุ่มชื้น ร่างกายจะได้ไม่ขาดน้ำ
สำหรับการให้ยาลดไข้แก่สัตว์ป่วยนั้น จำเป็นต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้กำหนดชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับสัตว์แต่ละราย
ไม่ควรให้สุนัขกินยาลดไข้หรือยาแก้ปวดของคน ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดก็ตาม เช่น พาราเซทามอล (paracetamol) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) แอสไพริน (aspirin) รวมทั้งไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เนื่องจากยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสุนัข และในกรณีที่ได้รับยาเกินขนาดสามารถทำให้สุนัขถึงแก่ความตายได้
เมื่อไหร่จึงควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์?
ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ หากอุณหภูมิร่างกายของสุนัขสูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส (ประมาณ 103 องศาฟาเรนไฮด์) หรือสูงกว่า
อุณหภูมิร่างกายที่ 41 องศาเซลเซียส (ประมาณ 106 องศาฟาเรนไฮด์)หรือสูงกว่า จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน (emergency) เนื่องจากสามารถสร้างความเสียหายต่ออวัยวะภายใน และอาจจะทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ จึงไม่ควรรอจนถึงจุดนั้นควรรีบพาสุนัขไปที่คลินิกรักษาสัตว์หรือโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อให้สัตวแพทย์ ทำการตรวจร่างกาย และวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะไข้ หากสุนัขได้เคยไปรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสัตวแพทย์จะมีบันทึกประวัติสุขภาพของสุนัขเพื่อประกอบการวินิจฉัยในเบื้องต้น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการทำวัคซีนประจำปี ประวัติการผ่าตัด การถ่ายพยาธิ โรคภูมิแพ้ ยาที่เคยได้รับหรือกำลังได้รับเป็นประจำ และประวัติของความเจ็บป่วยในอดีต
ข้อมูลที่เราต้องเตรียมไว้ให้คุณหมอ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย มีอะไรบ้าง?
เพื่อความรวดเร็วและเป็นประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยโรค เจ้าของสัตว์ป่วยที่ไปพบสัตวแพทย์ควรเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการป่วยของสุนัข หรือเตรียมข้อมูลจากคนในบ้านที่ทราบข้อมูลไปด้วย เนื่องจากสัตวแพทย์อาจจำเป็นต้องซักถามเจ้าของสุนัขเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลของสุขภาพหรือการเจ็บป่วยในที่เป็นปัจจุบัน เช่น
• สังเกตเห็นว่าสุนัขมีไข้ครั้งแรกเมื่อไหร่
• อาการป่วยอื่นๆ เช่น มีท้องเสีย ไอ อาเจียน มีบ้างหรือไม่
• ความเป็นไปได้ที่สุนัขอาจกินพืชหรือสารพิษอื่นๆเข้าไป มีหรือไม่
• ความเป็นไปได้ที่สุนัขอาจถูกกัดโดยแมลงและสัตว์ที่มีพิษอื่นๆ มีหรือไม่
• สุนัขกินน้ำหรืออาหารได้บ้างหรือไม่ กินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
นอกจากนี้ ยังหลังจากที่ตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว สัตวแพทย์อาจจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างจากสุนัข เช่น ปัสสาวะ เลือด เพื่อส่งไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เพื่อให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย หรือเพื่อให้ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือควรใช้ยาชนิดใดเพื่อกำจัดเชื้อดังกล่าว
หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ในเบื้องต้น สัตวแพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาต้านการติดเชื้อเพื่อช่วยกำจัดเชื้อจากร่างกาย นอกจากนี้ ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องมีส่งตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีกในภายหลัง เพื่อการทดสอบที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น บางครั้งอาจเป็นไปได้ที่จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะไข้ได้ แม้จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว โดยทั่วไปจัดเป็น Fever of Unknown Origin หรือ FUO (ภาวะไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ)
ดังนั้นหากสุนัขมี “ไข้” และเราได้ให้การพยาบาลเบื้องต้นตามที่แนะนำไปแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าปล่อยไว้จนสายเกินแก้นะครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี