การบังคับใช้กฎหมายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจากสถิติการจับกุมทั่วประเทศในปี พ.ศ.2561 พบว่ามีการจับกุมใน 7 คดีสูงถึง 5,531,977 ราย โดยแบ่งออกเป็น1) ไม่สวมหมวกนิรภัย 2,284,985 ราย 2) ขับรถเร็ว 1,248,803 ราย 3) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 884,680 ราย4) เมาสุรา 424,522 ราย 5) ฝ่าไฟแดง 293,766 ราย6) ขับรถย้อนศร 224,736 ราย และ 7) โทรศัพท์ขณะขับรถ 164,675 ราย
ถ้าพิจารณาอัตราการจับกุมต่อแสนประชากร พบว่าโดยเฉลี่ย ประเทศไทยมีอัตราการจับกุม 10,064 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่มีการจับกุมน้อยและมีอัตราการเสียชีวิตสูงคือ จังหวัดระยอง และเพชรบูรณ์
1) คดีเมาแล้วขับ ถือเป็นคดีที่มีอัตราการจับกุมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกคดี โดยในปี พ.ศ.2561 มีการจับกุม 424,163 ราย คิดเป็นอัตรา 477 รายต่อแสนประชากร พบว่าคดีเมาแล้วขับมีอัตราการจับกุมเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2559 ถึง 45% สะท้อนความใส่ใจและความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายกับพฤติกรรมเสี่ยงนี้ จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมคดีเมาแล้วขับสูงสุด 5 จังหวัดคือ ระยอง ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และอุบลราชธานี 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมต่ำสุด คือ นราธิวาส สตูล น่าน ตราด และตรัง
2) หมวกนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยลดการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยประเทศไทยมีทั้งกฎหมายและการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ที่เป็นรูปธรรม แต่จากการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดปี พ.ศ.2561 พบว่ามีผู้สวมหมวกนิรภัยเพียง 45% เพิ่มจากปี 2560 เพียง 2% สถิติการจับกุม พ.ศ.2561 พบว่าคดีไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นคดีที่มีการจับกุมสูงที่สุดถึง 2,269,664 ราย หรือคิดเป็นอัตราการจับกุม 2,552.6 ต่อแสนประชากร จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมต่อแสนประชากรสูงสุด 5 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี อ่างทอง และแพร่ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการจับกุมต่ำสุด ได้แก่ สงขลา นราธิวาส นครปฐม สตูล และเลย
3) การขับรถเร็วเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนนนอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาในการตัดสินใจลดลงแล้วความเร็วยังทำให้อุบัติเหตุมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย สถิติการจับกุมในปี พ.ศ.2561 ทั่วประเทศมีผู้กระทำผิด 1,244,255 ราย คิดเป็นอัตรา1,873.3 รายต่อแสนประชากร คดีขับรถเร็วมีอัตราการจับกุมเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2559 สูงที่สุดถึง 270% สะท้อนความเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมาย 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมต่อแสนประชากรมากที่สุด คือ อ่างทอง ชัยนาท พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมต่อแสนประชากร ต่ำสุดคือ ชุมพร นราธิวาส นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน และยะลา อีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ ตำแหน่งของกล้องตรวจจับความเร็ว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวิเคราะห์จุดเสี่ยงที่มีปัจจัยจากความเร็ว จะทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยกล้องตรวจจับความเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4) เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับหมวกนิรภัย คือ ไม่ได้ลดจำนวนอุบัติเหตุ แต่ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่และผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ถึง 40-65% สถิติการจับกุมคดีไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในปี พ.ศ.2561 ทั่วประเทศ มีผู้กระทำผิด 878,911 ราย คิดเป็นอัตรา 1,323.4 รายต่อแสนประชากร 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมสูงสุดต่อแสนประชากร 5 จังหวัด คือ ระยอง พะเยา ชลบุรี ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด ต่ำสุด5 จังหวัด คือ นราธิวาส สงขลา นครปฐม ปัตตานี และพังงา
5) สถิติการจับกุมคดีขับรถย้อนศรในปี พ.ศ.2561 มีผู้กระทำผิด224,139 ราย หรือ 337.5 รายต่อแสนประชากร 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมสูงสุด คือ อ่างทอง ชลบุรี ภูเก็ต ปทุมธานี และสมุทรปราการต่ำสุด 5 จังหวัด คือ สงขลา นราธิวาส น่าน นครปฐม และอุตรดิตถ์
6) สถิติการจับกุมคดีฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรในปี พ.ศ.2561มีผู้กระทำผิด 292,971 ราย หรือ 441.13 รายต่อแสนประชากร 5 จังหวัดที่มีการจับกุมสูงสุดได้แก่ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต สระบุรี และพิษณุโลก ต่ำสุด คือ นราธิวาส ตราด ลำปาง พังงา และสุพรรณบุรี
7) สถิติการจับกุมคดีใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถในปี พ.ศ.2561 มีผู้กระทำผิด 170,274 ราย หรือ 256.38 รายต่อแสนประชากร 5 จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมสูงสุด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ต่ำสุด ได้แก่ นราธิวาส พังงา บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และหนองคาย
จากการประเมินตนเองในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน พบว่าความเข้มแข็งจริงจังของนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัด มีคะแนนมากที่สุด (8.6) ตามด้วยความชัดเจนของแผนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุของจังหวัด (8) ความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัด (7.9) ความเข้มแข็งของเลขาศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (7.8) การจัดการความเสี่ยงลำดับจาก คน รถ ถนน (7.5) และการจัดงบประมาณ และกำลังคน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัด (ที่มา : รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2561, แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด)
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี