ต้อหิน (Glaucoma) โรคที่นำพาความมืดคืบคลานมาจากรอบข้าง โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ตรวจคัดกรองและรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้รักษาการมองเห็นให้คงไว้ได้ดีที่สุด
ต้อหิน (Glaucoma) คือกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของขั้วประสาทตาส่งผลให้มีการสูญเสียลานสายตา ความดันลูกตาสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรค โดยทั่วไปถ้าค่าความดันตาสูงกว่า 21 มิลลิเมตรปรอทถือว่าน่าจะผิดปกติ แต่ก็มีผู้ป่วยต้อหินจำนวนไม่น้อย ที่มีความดันลูกตาอยู่ในระดับปกติ ดังนั้น การวัดความดันลูกตาเพียงอย่างดียวไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคต้อหินได้
อาการ และการวินิจฉัยโรคต้อหิน โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเรื้อรังมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพราะในระยะแรกของโรคการสูญเสียลานสายตาจะเกิดที่บริเวณรอบนอกก่อน เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นจึงจะเสียลานสายตาในส่วนตรงกลางซึ่งกระทบต่อการมองเห็นจนผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ลานสายตาจะค่อยๆแคบลง จนตาบอดได้ในที่สุด อาการแสดงอื่นๆ และการดำเนินโรคอาจแตกต่างไปตามชนิดของต้อหินเช่น อาการปวดตา ตาแดง และตามัวอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลัน ส่วนต้อหินมุมเปิดมักพบว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางตาผิดปกติ ยกเว้นในระยะท้ายของโรคการมองเห็นจะแคบลงเป็นต้น การวินิจฉัยโรคอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการซักประวัติ การตรวจขั้วประสาทตา ลานสายตา และการวัดความดันลูกตา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้อหินส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยโรคจากการตรวจพบโดยบังเอิญในการตรวจตาทั่วไป
ปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน ประกอบด้วย ผู้ที่มีประวัติ บิดา มารดา พี่น้องหรือญาติเป็นต้อหิน คนสายตาสั้นหรือยาวมากๆ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจน
ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่อาจทำให้เกิดต้อหินชนิดทุติยภูมิ ได้แก่ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา อุบัติเหตุทางตา การติดเชื้อหรือการอักเสบในตา การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอด ยารับประทาน ยาฉีด หรือยาพ่น ตลอดจนโรคต้อกระจกที่ปล่อยทิ้งไว้จนเลนส์ตาสุกหรือบวม
การรักษาโรคต้อหิน หลักการรักษาโรคต้อหินคือการยับยั้งการสูญเสียขั้วประสาทตาหรือลานสายตาเพื่อคงสภาพการมองเห็นเดิมไว้ โดยในปัจจุบัน การลดความดันตาเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถควบคุมโรคต้อหินได้ การลดความดันลูกตามีหลายวิธีซึ่งความเหมาะสมที่จะใช้รักษาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ประกอบด้วย การใช้ยา ทั้งยาหยอดยารับประทาน และยาฉีด, การใช้แสงเลเซอร์, การผ่าตัดส่วนการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การนวดตายังไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการอย่างชัดเจน จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต้อหิน ก่อนที่จะตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช่แนวทางมาตรฐาน
โดยสรุป ต้อหิน เป็นโรคซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียสายตาแบบถาวรที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่รักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมโรคเพื่อคงสภาพการมองเห็นและคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยต้อหินมักไม่มีอาการผิดปกติจนกว่าจะอยู่ในระยะท้ายของโรค จึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีตรวจคัดกรอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้น
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี