สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงตรงนี้มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 1,016,399 คน และเสียชีวิตมากถึง 53,238 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2563) เป็นเหตุให้แต่ละประเทศทั่วโลกได้กำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาสำหรับการดูแลประชาชนในปกครอง ส่วนประชาชนเองนั้น ก็เริ่มมีความตระหนักมากยิ่งขึ้นในการดูแลความปลอดภัย ด้วยการหันมาใส่ใจดูแลตนเอง และปฏิบัติตามมาตรการจากทางภาครัฐมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าใจหายในหลายประเทศ จึงทำให้บางประเทศที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงก่อนหน้านี้ ต้องทบทวนกระบวนการคิดใหม่ และหันมารณรงค์ใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้ากันมากขึ้น เพราะมีผลการพิสูจน์ที่เกิดขึ้นจริงยืนยันแล้วว่า ประเทศที่ประชากรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส มีตัวเลขอัตราผู้ติดเชื้อปรากฏน้อยกว่าประเทศที่กำหนดให้ผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสหรือผู้มีอาการป่วยใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเท่านั้น โดยประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากก็ได้ แน่นอนว่าตรงนี้ก็ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยจากทั่วโลกมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นตามมา
ด้วยความต้องการของหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นนั้น ประเด็นที่อยากนำเสนอก็คือ ถ้าลองจินตนาการว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 7,500 ล้านคน ต้องใส่หน้ากากอนามัยคนละ 1 ชิ้น และเพื่อสุขอนามัยที่ดี ทางหน่วยงานสาธารณสุขก็ให้คำแนะนำว่า หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นควรใช้เพียง 1 วัน แล้วนำไปทิ้ง คำถามที่ตามมาก็คือ โลกจะมีขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเกิดขึ้นมามากขนาดไหนในแต่ละวัน
ประเทศไทยเองก็สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 2.3 ล้านชิ้นส่วนหนึ่งแจกจ่ายไปยังระบบของสาธารณสุข อีกส่วนหนึ่งส่งไปยังระบบของมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อส่งต่อให้ถึงมือประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ (ก่อนหน้านี้เป็นการใช้ระบบของพาณิชย์ผ่านไปยังร้านค้าต่างๆ แต่ได้รับการปรับเปลี่ยนโดย ศบค.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) รวมไปถึงหน้ากากอนามัยที่ได้รับการนำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ดังนั้น ใน 1 วันหน้ากากอนามัยเหล่านี้จะกลายเป็นกองขยะจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเมื่อเวลาผ่านไปปัญหากองขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วพวกนี้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าพวกเราไม่ให้ความใส่ใจเสียแต่ตอนนี้
บทความนี้จึงขอเป็นจุดตั้งต้นในการสร้างการรับรู้ เพื่อการตระหนักถึงปัญหาจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง โดยที่ไม่มีการตั้งรับในเรื่องของการบริหารจัดการขยะที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ โดยที่ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า หน้ากากอนามัย ที่มองไปก็คล้ายกระดาษ หรือทำมาจากใยผ้าบางๆ ทำไมถึงเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้
คำตอบก็คือ แท้จริงแล้วหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งนั้น มีส่วนผสมของ “พอลิโพรไพลีน” (polypropylene) หรือส่วนผสมของพลาสติกในการป้องกันเชื้อโรคและกันของเหลว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมากในการย่อยสลาย นี่แหละเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยปกติทั่วไป โลกของเรานั้นมีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี และเกินกว่าครึ่งของจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดถูกบริหารจัดการด้วยการใช้กระบวนการ “ฝังกลบ” หรือไม่ก็ถูกทิ้งลงทะเลไป ซึ่ง
ก่อให้เกิดมลพิษอันตรายต่อวัฏจักรชีวิตของทั้งคนและสัตว์อย่างร้ายแรง ซึ่งคาดกันว่าปัจจุบันมีพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้นหนักเกินกว่า 250,000 ตันลอยอยู่กลางทะเลและนี่คือสาเหตุที่ทำให้บรรดาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลเสียชีวิต เพราะพวกมันไปกินขยะซึ่งเป็นชิ้นส่วนพลาสติก และไมโครพลาสติก ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เป็นอาหาร เห็นได้จากข่าวมากมายที่เผยแพร่ออกมาว่าปลาโลมาแมวน้ำ หรือเต่าทะเล ต้องตายไปก็เพราะขยะพลาสติกพวกนี้ ที่อันตรายกว่านั้นก็คือเจ้าขยะพลาสติกที่ไปตกค้างอยู่ในตัวของสัตว์ต่างๆ และสัตว์เหล่านั้นถูกนำมาเป็นอาหารให้กับมนุษย์อย่างพวกเรา สิ่งตกค้างเหล่านั้นจึงสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการรับประทาน ซึ่งเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ
มีงานวิจัยของ Journal EnvironmentalScience and Technology ว่ามนุษย์รับประทานไมโครพลาสติกประมาณ 39,000-52,000 ชิ้นต่อปี และทั้งหมดนี้ยังไม่รวมขยะพลาสติกที่น่าจะเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย
ตามรายงานข่าวของทางประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสนั้น ตอนนี้ก็เริ่มเห็นปัญหาของขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น ภาพของหน้ากากอนามัยถูกปล่อยลอยอยู่กลางทะเล แม่น้ำ และถูกทิ้งอย่างไม่ถูกสุขลักษณะอยู่ในบริเวณกองขยะ ได้รับการสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ก็อาจสร้างการติดเชื้อให้แก่ผู้ที่เข้าไปสัมผัสกับหน้ากากอนามัยใช้แล้วเหล่านี้ได้ หรืออาจสร้างความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ อาทิเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไวรัสตับอักเสบ บีหรือ ซี เป็นต้น
ดังนั้น กระบวนการจัดการกับหน้ากากอนามัยใช้แล้วก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า กระดาษชำระเปียก หรือหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรทิ้งในถังขยะชนิดปิดและหากเป็นอุปกรณ์ของผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยง หรือที่ใช้ในโรงพยาบาล ให้ถือว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” ต้องได้รับการฆ่าเชื้อก่อนและกำจัดได้ด้วยการเผาด้วยเตาเฉพาะ (ได้รับการกำหนดไว้)
นอกจากเรื่องของหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง ก็ยังมีขยะพลาสติกอื่นๆ ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ ขวดเจลล้างมือที่ใช้แล้ว กระดาษชำระเปียก หรือกล่องอาหารพลาสติก (บริการสั่งอาหารกลับบ้าน หรือบริการส่งอาหารในแต่ละมื้อ) ในส่วนนี้ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การรณรงค์เกี่ยวกับการนำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้อย่างคึกคัก ต้องได้รับการกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับขยะพลาสติกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบูรณาการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เชื่อว่า การบริหารจัดการปัญหาอย่างรัดกุม และเป็นยุทธศาสตร์ จะสามารถผูกมาตรการร่วมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแผนหลักของทาง ศบค. ได้อย่างเป็นระบบ เพราะหลายเรื่องมีการดำเนินการมาอยู่แล้ว และบางเรื่องก็เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันปัญหาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น จากผลกระทบในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน อาทิ การบริหารจัดการหน้ากากด้วยความเหมาะสม ไม่ให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ด้วยการให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงใช้หน้ากากอนามัย ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ให้เลือกใช้หน้ากากผ้าทดแทน ตามคำแนะนำของ “กรมอนามัย” ที่ออกมาให้ความรู้ว่า หน้ากากผ้าก็สามารถป้องกันไวรัสได้ที่สำคัญ ยังสามารถทำเองได้ง่าย แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย ประกอบกับการหมั่นล้างมือให้สะอาดปลอดเชื้อโรค และเว้นระยะห่างต่อกันเกินกว่า 2 เมตร
แต่เรื่องของขยะติดเชื้อ หรือขยะพลาสติก ที่เกิดจากการใช้หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง ในส่วนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ซึ่งเท่าที่ทราบก็เห็นเพียงทางหน่วยงาน กทม. ที่ทำการเพิ่มจุดตั้งถังขยะมากขึ้น แต่เรื่องการแยกขยะติดเชื้อ รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องการจัดเก็บเพื่อนำไปทิ้ง ยังไม่มีการรณรงค์เท่าที่ควร ส่วนต่างจังหวัดนั้น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะไม่มากนัก และความสนใจของหน่วยงาน
ท้องถิ่นก็ยังไม่เห็นมาตรการอะไรออกมาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ไวรัสเลย ทั้งๆ ที่ตอนนี้การแพร่ระบาดได้ขยายตัวไปครอบคลุมเกือบทั่วประเทศไทยแล้วก็คงต้องฝากผ่านบทความชิ้นนี้ เพื่อเป็นอีกเสียงส่งผ่านไปยังรัฐบาลให้เพิ่มความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะไวรัสโควิด-19 อาจทำให้บ้านของพวกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี