เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะกล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้สุนัขและแมวตัวไหนมีสุขภาพดี มีความน่ารัก น่ากอด นั่นก็คือ “คุณภาพและสุขภาพของขน” ขนจะสุขภาพดี มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องและมีวิธีการดูแลอย่างไร วันนี้ผมมีสาระที่น่าสนใจจาก “สพ.ญ.ดร.ฉัตรวลี บุญธรรม” เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากครับ
@ ขนคืออะไร?
“ขน” (Hair coat) เป็นโครงสร้างที่ขึ้นเป็นเส้น ปกคลุมผิวหนังและห่อหุ้มร่างกายของสัตว์ โดยทั่วไปขนของสุนัขมักจะมี 2 ชั้น คือขนชั้นนอก (top coat) และขนชั้นใน (under coat)
@ กลุ่มของสุนัขและแมว แบ่งตามรูปแบบของขนได้อย่างไร?
ในการแบ่งกลุ่มของสุนัขและแมวตามรูปแบบของขน อาจแบ่งได้ง่ายๆ ได้เป็นกลุ่มไม่มีขน กลุ่มขนสั้น และกลุ่มขนยาว
1.กลุ่มไม่มีขน หรือ Hairless เป็นกลุ่มที่ไม่มีขนเลย หรือมีขนเล็กน้อยที่ละเอียดและสั้น เช่น สุนัขพันธุ์ไชนิส เครสเต็ด (hairless) และแมวพันธุ์สฟิงซ์
2.กลุ่มขนสั้น หรือ Short-haired ส่วนใหญ่มีขนชั้นนอกหนา และยาวกว่าขนชั้นใน เช่น สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล คอร์กี้ ชิวาวาขนสั้น และแมวพันธุ์ไทย-อเมริกันชอร์ตแฮร์ เป็นต้น
3.กลุ่มขนยาว Long-haired จะมีขนชั้นนอกที่ยาว หยาบ และเหยียดตรงและขนชั้นในที่หนา เช่น สุนัขพันธุ์ปักกิ่ง ชิห์สุ โกลเด้นรีทรีเวอร์ ยอร์คเชียร์เทอเรียร์และแมวพันธุ์เมนคูน เปอร์เซีย และฮิมาลายัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีขนลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น ขนลักษณะหยิกเป็นลอนๆ เช่นสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล บิชอนไฟรส์ ขนลักษณะหยิกเป็นม้วนขด เช่น สุนัขพันธุ์พูลิ เคอรี่บลูเทอเรียร์ หรือขนลักษณะแข็งคล้ายเส้นลวด เช่น สุนัขพันธุ์ แอรีเดลเทอเรียร์ เป็นต้น
@หน้าที่ของขน
ขนมีหน้าที่ที่มีความจำเป็นต่อสัตว์หลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
1. ปกคลุมร่างกาย ช่วยป้องกันผิวหนังจากอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค แสงแดด สารเคมี รวมถึงจากป้องกันการบาดเจ็บผิวหนังจากการถูกกัดหรือข่วนลำตัว
2. ป้องกันการสูญเสียความร้อน และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
3.ลดการเสียดสีในการเดิน เช่น ขนที่ฝ่าเท้าแมว
4.ช่วยในการพรางตัวจากศัตรู
5.เพื่อความสวยงาม และจำแนกชนิดและพันธุ์ของสัตว์
จะเห็นว่า ขนมีความสำคัญต่อร่างกายของสุนัขและแมวของเราเป็นอย่างมากแต่อาจเป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์บางท่านมองข้ามไป ไม่ได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอและอย่างถูกวิธี จึงส่งผลให้ขนกลายเป็นปัญหารุนแรงและเรื้อรังได้ ดังนั้นหากคิดจะเลี้ยงสุนัขสักตัวอย่างดีไปตลอดชีวิตของเขา หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะต้องศึกษาความรู้พื้นฐานในเรื่องการดูแลเส้นขนด้วย
เริ่มต้นกันที่ ปัจจัยที่ทำให้เส้นขนของสุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าในสุนัขบางตัวขนสั้น ขนยาว ขนหยิก ขนตรง ทั้งที่เป็นพันธุ์เดียวกัน หรือเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน สาเหตุของความแตกต่างเหล่านั้น ถูกควบคุมหลายปัจจัย เช่น
-พันธุกรรม สำหรับปัจจัยด้านพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ของสุนัขเป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควบคุมได้ยาก จึงพบว่า สุนัขบางตัวจะมีขนลักษณะมันวาวดุจแพรไหม ไม่พันกันยุ่งเหยิงจนเป็นสังกะตัง ในขณะที่สุนัขบางตัวมีขนหยาบกระด้าง พอปล่อยยาวนิดหน่อยก็พันกันจนเป็นสังกะตัง
-สุขภาพ พบว่าในสุนัขที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง สุขภาพขนก็จะเงางามแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่ายเช่นเดียวกัน สำหรับปัจจัยในด้านสุขภาพนี้เจ้าของสัตว์สามารถดูแลได้ ด้วยการพาไปเช็คสุขภาพกับสัตวแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องขนสามารถบำรุงด้วยวิตามินหรือผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นขนตามที่สัตวแพทย์เห็นสมควร
-อาหารและการดูแล ปัจจัยด้านนี้ เป็นปัจจัยที่เจ้าของสัตว์ทุกท่านต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ขึ้นกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นหลักได้แก่ ปัจจัยเรื่อง “อาหาร” หากสุนัขได้รับอาหารคุณภาพดี สารอาหารครบถ้วนในแบบที่สุนัขต้องการ ก็จะส่งผลให้มีสุขภาพขนเงางามเข็งแรง ส่วนในเรื่อง “การดูแล” ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าของสุนัข ทั้งในเรื่องการอาบน้ำ ตัดขนเป่าแห้งบำรุงขน ซึ่งเจ้าของสามารถทำเองได้ หรือพาเข้าร้านอาบน้ำตัดขนก็ได้
-ปรสิตที่ผิวหนัง เป็นสิ่งที่ก่อกวนสุนัขอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเห็บ หมัด เหา ไรหรือยุง นอกจากจะก่อกวนสุนัขแล้วยังนำพาโรคร้ายต่างๆ ที่อาจรุนแรงถึงทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ ได้แก่ โรคพยาธิเม็ดเลือด โรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคโลหิตจางโรคผิวหนังจากการแพ้น้ำลายหมัด เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น เราทราบแล้วว่าเรื่องขนสุนัขเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการการดูแล แม้ว่าจะมีบางปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยให้ขนสุนัขมีสุขภาพดีได้ด้วยตัวของเราเอง ต่อไปเรามาเรียนรู้กันว่าเราจะช่วยให้สุนัขของเรามีขนสุขภาพดีได้อย่างไรบ้าง
1. ควรแปรงขนทุกวัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ขนยาว การแปรงขนช่วยลดปัญหาการเกิดสังกะตังได้อย่างดี ช่วยขจัดสะเก็ดรังแคและสิ่งสกปรกที่ติดตามเส้นขน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ด้วย นอกจากนั้นการแปรงขนยังช่วยกระตุ้นหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเส้นขน กระตุ้นต่อมไขมันบริเวณเส้นขน ทำให้เส้นขนเงางาม
แข็งแรง อาจใช้โลชั่นบำรุงขนชโลมเพื่อให้เกิดความเงางามก็ได้ แต่ควรต้องปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจต้องทดสอบว่าจะไม่เกิดการแพ้ก่อน
2. ควรอาบน้ำเมื่อสุนัขตัวสกปรก เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคอันเป็นต้นเหตุของโรคผิวหนัง แต่หากอาบน้ำบ่อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ผิวหนังแห้งได้เช่นกันสำหรับแชมพูที่ใช้จะต้องปรับตามสภาพขนและผิวหนังในสุนัขแต่ละตัว หากสุนัขมีปัญหาติดเชื้อที่ผิวหนังก็ต้องใช้แชมพูสำหรับฆ่าเชื้อตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ข้อควรระวังในการอาบน้ำคือการล้างแชมพูออกให้สะอาดหมดจด จากนั้นต้องเช็ดตัวและเป่าขนสุนัขให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังจากความชื้น เช่น เชื้อรายีสต์แบคทีเรีย เป็นต้น หลังจากเป่าขนอาจมีการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงขนตามความจำเป็นของสุนัขแต่ละตัว
3. ตัดแต่งขนเป็นประจำหรือตามจำเป็น สำหรับความถี่ของการตัดขนขึ้นกับลักษณะเส้นขนของสุนัขแต่ละตัว สุนัขบางตัวมีขนยาวต่อเนื่องอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาสังกะตัง การตัดแต่งขนจะช่วยให้เจ้าของสามารถดูแลขนและผิวหนังได้ง่ายมากขึ้น ในทางตรงข้ามสำหรับสุนัขพันธุ์ขนสั้นไม่มีความจำเป็นต้องตัดแต่งขน
การดูแลขนตามที่ได้กล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์ควรศึกษาและให้ความเอาใจใส่ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงที่คุณรักมีสุขภาพขนที่แข็งแรง สวยงาม ไม่เกิดปัญหาโรคติดเชื้อต่างๆที่ทำให้เกิดความรำคาญใจแก่ตัวสัตว์และผู้เลี้ยง ดังนั้นหากคิดจะเลี้ยงสุนัขสักหนึ่ง ตัวอย่าลืมศึกษาถึงลักษณะขนของพันธุ์นั้นๆ ด้วย เพื่อที่เราต้องประเมินตนเองว่า จะต้องมีขั้นตอนการดูแลขนที่เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงชีวิตในการเลี้ยงเขาด้วยครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี