ช่วงนี้หลายท่านก็คงวิตกกันในเรื่องสถานการณ์การติดเชื้อโรค COVID-19 การกักตัวอยู่บ้านก็ช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อได้ทางหนึ่งแต่อากาศที่ร้อนสุดๆ แบบนี้ ปัญหาที่สามารถพบได้อีกเรื่อง (ไม่เฉพาะในคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน) นั่นคือ “การช็อกหมดสติเนื่องจากภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงผิดปกติ” หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “โรคลมแดด” หรือ “Heatstroke” ดังนั้นวันนี้จึงขอนำเรื่องนี้มาคุยกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นครับ
ความหมายของ Heatstroke นั้น อาจเรียกกันได้หลายชื่อเช่น โรคลมแดดโรคลมร้อน โรคลมเหตุร้อน โดยมาจากคำว่า Heat ซึ่งหมายถึงความร้อนอุณหภูมิร้อน และคำว่า Stroke คือการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือการอุดตันหรืออุดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยที่คำนิยามในภาษาไทยทั้งในการแพทย์และสัตวแพทย์ มักกล่าวถึง “การหมดสติที่มีสาเหตุมาจากอากาศ หรืออุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น” ครับ
@สาเหตุของโรค
โรคลมแดด เป็นสภาวะที่เกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนร่างกายระบายความร้อนออกไปไม่ทัน มีผลทำให้อวัยวะภายในถูกทำลายและหยุดทำงาน โดยเฉพาะตับ ไต สมอง และลำไส้ เป็นเหตุให้คนและสัตว์เสียชีวิตในที่สุด
@โรคลมแดดสามารถเกิดในสัตว์เลี้ยงได้หรือ?
จริงๆ แล้ว สุนัขและแมวนั้น มีโอกาสเป็นโรคลมแดดได้ง่ายกว่าในคนเสียอีกครับ เนื่องจากผิวหนังของสุนัขนั้นถูกปกคลุมด้วยขนที่หนา อีกทั้งผิวหนังตามลำตัวของสุนัข ก็ยังไม่มีต่อมเหงื่อที่จะระบายความร้อนออกจากร่างกายเหมือนในคนอีกด้วย (เราสามารถพบต่อมเหงื่อได้เฉพาะที่อุ้งเท้า รอบปาก และรอบก้นของสุนัขเท่านั้น) ดังนั้นกลไกการระบายความร้อนออกจากร่างกายของสุนัขจึงไม่ดีเท่าของคน เพราะทำได้แค่ “การหายใจหอบ” ไม่มีอาการเหงื่อไหลย้อยเพื่อระบายความร้อนเหมือนในคน
โดยปกติ อุณหภูมิร่างกายของสุนัขจะอยู่ที่ประมาณ 102 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ถ้าร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 106 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำให้สมองเกิดความเสียหาย อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ครับ
@ปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่ทำให้สัตว์มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างเร็วนั้น นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว การถูกล่ามหรือถูกขังตากแดดเป็นเวลานาน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่างกายสัตว์จะพยายามปรับตัวโดยอ้าปากหายใจถี่ๆ เพื่อขับความร้อนออกจากร่างกาย ดังนั้นการหอบจึงเป็นทางระบายความร้อนที่ดีและเร็วที่สุดสำหรับสุนัขครับ
ที่สำคัญ อันตรายที่เกิดจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเกิดใน“สุนัขอ้วน” “สุนัขแก่” “สุนัขพันธุ์ขนยาว” และ “สุนัขพันธุ์หน้าสั้น” เช่น Pug และ Bulldog เป็นต้น
@อาการที่สังเกตเห็นได้คือ?
อาการที่พบ ได้แก่ การหอบ หายใจเร็ว ลิ้นและเหงือกแดงเข้มกว่าปกติกระวนกระวาย ตัวร้อน ตาเหลือก น้ำลายไหล ลุกไม่ไหว ม่านตาขยาย มองไม่เห็น อาเจียน ถ่ายเหลว ช็อก และหมดสติในที่สุด
@เมื่อเกิดปัญหาแล้ว เบื้องต้นเราควรปฐมพยาบาลอย่างไร?
1.รีบนำสุนัขออกจากบริเวณที่ร้อนนั้น โดยนำเข้าที่ร่ม หรือที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยระบายความร้อน ถอดเสื้อและปลอกคอออก แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
2.ระหว่างนั้นให้พยายามลดอุณหภูมิของร่างกายของสุนัขลง โดยเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น อาบน้ำ หรือใช้ Cold pack ประคบตามข้อพับ ท้อง ศีรษะ และขาหนีบและควรวัดอุณหภูมิทุกๆ 5-10 นาที เพื่อตรวจว่าอุณหภูมิของร่างกายลดลงแล้วหรือยัง 3.ถ้าสุนัขยังมีสติอยู่ สามารถให้สุนัขกินน้ำได้ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย และลดภาวะการขาดน้ำหรือภาวะแห้งน้ำ (dehydration) แต่หากสุนัขไม่รู้สึกตัว จงจำไว้ว่า “ห้าม” บังคับป้อนน้ำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สุนัขสำลักและเสียชีวิตได้เร็วขึ้น
4.สิ่งที่สำคัญ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดครับ
@สำหรับสัตวแพทย์แล้ว หลักในการรักษาโรคนี้มีดังนี้
1.การลดอุณหภูมิของร่างกายสุนัขให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
2.การให้สารน้ำ เพื่อแก้ไขภาวะการขาดน้ำ และการให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
3.การให้ยารักษาตามอาการ
4.การติดตามและการเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดการเกิดภาวะช็อก การหายใจที่ผิดปกติ ภาวะไตวาย ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น
@เราสามารถป้องกันโรคลมแดดได้โดย
1.จัดที่อยู่ของสัตว์ให้อยู่ในสถานที่ที่เย็นสบาย มีร่มเงาตลอดทั้งวัน เลี่ยงการล่ามสุนัขในบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น พื้นคอนกรีต หิน หรือทราย
2.ในช่วงอากาศร้อนจัด ต้องระมัดระวังเรื่องการออกกำลัง โดยเฉพาะสุนัขที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นโรคหัวใจ อ้วน อายุมาก หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ
3.ควรมีภาชนะบรรจุน้ำสะอาดให้สัตว์กินอย่างเพียงพอตลอดเวลา
4. “ห้าม” ปล่อยสุนัขทิ้งไว้ในรถ แม้จอดไว้ในร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิภายในรถสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อย่าชะล่าใจหรือคิดว่าไม่เป็นไร แม้จะเป็นเวลาไม่นานก็ตามนะครับ
5.ควรพิจารณาและระวังเป็นพิเศษในการใส่ Muzzle (อุปกรณ์ที่ใช้ปิดปากในช่วงอากาศร้อน) เพราะจะทำให้สุนัขหายใจเพื่อระบายความร้อนได้ลำบากยิ่งขึ้น
6.ในวันที่อากาศร้อนจัด ควรอาบน้ำให้สุนัขเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
ขอเรียนว่า นอกจากสุนัขแล้ว “สัตว์เลี้ยงอื่นๆ” ก็สามารถประสบปัญหา “โรคลมแดด” ได้เช่นกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็น แมว หนู หรือกระต่ายวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกโดยอยู่ในตัวบ้าน หรือในที่ร่ม และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ผมได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ก็จะสามารถป้องกันสัตวเลี้ยงของเราให้ห่างไกลจากโรคลมแดดได้แล้วล่ะครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี