ข่าวจากสังคมออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ จากเพจเฟซบุ๊ค PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีการแชร์ภาพการรายงานที่ว่า พบผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบาก ซึ่งภาพจากฟิล์มเอกซเรย์พบว่า มีลักษณะของหัวใจโต และเมื่อทำการตรวจต่อไปก็พบว่า เกิดจากก้อนซีสต์ไฮดาติดของพยาธิตืดสุนัขอยู่เต็มภายในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ และได้สรุปว่าเป็นโรค Echinococcosis ซึ่งสังคมออนไลน์ก็ได้มีการพูดกันว่า สาเหตุมาจาก “สุนัข” ทำให้หลายคนเกิดความวิตก ตระหนก และเริ่มระแวงกับการที่ต้องอยู่กับสุนัขที่เราเลี้ยง
เรื่องนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ (ผู้รักสัตว์) ควรตื่นตระหนกกับข่าวนี้มากน้อยเพียงไร มีความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตหรือไม่อย่างไร รวมถึงมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร วันนี้ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้ โดย รศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์ จาก หน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ทราบกันครับ
โรค Echinococcosis คืออะไร
โรค Echinococcosis คือโรคที่เกิดจากพยาธิตัวตืด Echinococcus spp. ซึ่งพยาธิชนิดนี้พบอยู่ในลำไส้เล็กของสุนัข
โรคนี้พบได้ทั่วโลก ซึ่งรายงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะพบใน “ต่างประเทศ” โดยเฉพาะประเทศที่มี “การเลี้ยงแกะเป็นอุตสาหกรรม” ส่วนรายงานในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งพยาธิชนิดนี้มี “สุนัข” เป็นโฮสต์สุดท้าย (Definitive host)และมี “แกะ” เป็นโฮสต์กึ่งกลาง (Intermediate host)
วงชีวิตของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรค
อ้างอิงจาก https://www.cdc.gov/parasites/echinococcosis/biology.html
เริ่มต้นจาก “พยาธิตัวเต็มวัย” ที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของสุนัข (ซึ่งเป็นโฮสต์แท้) ปล่อย “ปล้องแก่” ที่ภายในมีไข่ปนออกมากับมูลสุนัข ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
เมื่อ “โฮสต์กึ่งกลาง” (แกะ) กินไข่พยาธิที่มีตัวอ่อนระยะที่ 1 เข้าไป ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่ตับและปอด และมีการพัฒนาไปเป็น “ตัวอ่อนระยะที่ 2” ที่มีลักษณะเป็นถุงน้ำที่มีผนังหุ้มขนาดใหญ่เรียกว่า “Echinococcus cyst” เป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ และเมื่อ “สุนัข” กิน Echinococcus cyst นี้เข้าไปจะสามารถไปเจริญเติบโตเป็นตัวตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็กได้ วงชีวิตของพยาธิชนิดนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์
สำหรับในคน มีโอกาสติดโดยการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนออกมากับมูลสุนัข และตัวอ่อนที่อยู่ภายในไข่จะเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะภายในส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน
ดังนั้นจากวงชีวิตที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยนั้น โอกาสที่สุนัขในบ้านเราจะติดพยาธิตืด Echinococcus จึงเป็นไปได้ยาก
การรักษาและป้องกัน
- การถ่ายพยาธิในสุนัข สามารถใช้ยาถ่ายพยาธิ Praziquantel ซึ่งประสิทธิภาพสูง ในการกำจัดตัวเต็มวัยที่อยู่ในลำไส้เล็กในสุนัข
- ควรสวมถุงมือในการเก็บอุจจาระสุนัข และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- ควรมีการถ่ายพยาธิให้สุนัขอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคพยาธิในระบบทางเดินอาหารไม่ได้มีเฉพาะพยาธิตืด แต่ยังมีพยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า ซึ่งอาจจะทำให้สัตว์เลี้ยงของเราสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงได้ รวมไปถึงยังช่วยลดโอกาสการติดโรคสัตว์สู่คนที่มาจากสัตว์เลี้ยงของเราได้
กล่าวโดยสรุปจะเห็นว่าโอกาสการเกิดโรคนี้ในคนไทยนั้น“ต่ำมาก” เนื่องจากวงจรชีวิตของพยาธิชนิดนี้ ต้องอาศัย “แกะ” เป็นตัวกลางในการเติบโต รวมถึงหากเราดูแลสัตว์เลี้ยงของเราให้มีการฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิเป็นประจำตามที่สัตวแพทย์แนะนำ และที่สำคัญคือ เมื่อตัวเราเองก็ปฏิบัติตัวอย่างมีสุขอนามัยที่ดี เช่นใช้ถุงมือเมื่อต้องเก็บอุจจาระสุนัข ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารทุกครั้ง รวมถึงกินอาหารที่มาจากแหล่งที่สะอาด น่าเชื่อถือ และปรุงสุกเป็นประจำ เราก็สามารถห่างไกลจากโรคพยาธิรวมถึงโรคติดเชื้อต่างๆ ได้ครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี