เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวที่ฮือฮากันในโลกโซเชียลว่า มีผู้ไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แล้วดื่มน้ำที่ซื้อมาแต่วางตั้งทิ้งไว้ จากนั้นก็เกิดอาการลิ้นแข็ง หน้ามืด อ่อนแรง หายใจขัด จนถึงหมดสติ ภายหลังพบว่า ขวดน้ำที่ดื่มนั้น มีรอยเจาะคล้ายรูเข็ม และมีผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในน้ำดื่มนั้น พบสารที่มีชื่อว่า “ไซลาซีน” หรือ “Xylazine“ รวมถึงยังมีข่าวตามมาอีกว่า เป็น “ยาที่ใช้ในทางการสัตวแพทย์” หลายคนคงสงสัยว่ายาตัวนี้คืออะไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกันครับ ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากจาก รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ แห่งภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยา และวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ที่คุ้นเคยในการใช้ยาตัวนี้มากว่า 30 ปีแล้วครับ
@Xylazine ที่พูดถึงกันคืออะไร เป็นยาสลบอย่างที่ออกข่าวกันหรือไม่?
Xylazine หรือ Xylazine Hydrochloride อันที่จริงแล้ว “ไม่ใช่ยาสลบ” แต่เป็น “ยาระงับความรู้สึก ยาสงบประสาท สำหรับใช้ในทางการสัตวแพทย์โดยเฉพาะ” จัดเป็นตัวยาในกลุ่ม α2 adrenergic agonist ซึ่งออกฤทธิ์ในการระงับความรู้สึก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแก้ปวด จะทำให้การหายใจลดลง และทำให้เกิดการอาเจียนได้ โดยปกติแล้ว ในทางการสัตวแพทย์นั้น เรามักจะใช้ Xylazine ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมถึงในสัตว์ป่า ช้าง ม้า โค กระบือ สุนัข และแมว โดยมีแนะนำว่า ควรใช้ในสัตว์ที่แข็งแรง สภาพร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ
@กรณีใช้ในสัตว์นั้น มีข้อพึงระวังอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ายาตัวนี้สามารถใช้ในสัตว์ได้หลายชนิด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นมากคือ สัตว์ต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เนื่องจากยาตัวนี้จะส่งผลในการลดความแรงของการบีบตัวของหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และอาจเกิดหลอดเลือดที่หัวใจหดตัว (coronary vessel constriction) ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจขาดเลือดก่อให้เกิดความดันเลือดสูงในระยะ 5-10 นาทีแรก และจากนั้นจะเกิดความดันเลือดต่ำตามมา
@อันตรายที่เกิดในคนเป็นอย่างไร?
ส่วนใหญ่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่นเดียวกับในสัตว์ จะทำให้อยู่ในภาวะสะลืมสะลือหรือหลับได้ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ได้รับ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว จนเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อเปลี้ยได้ รวมทั้งทำให้อัตราการหายใจก็ลดลงอีกด้วย
มีรายงานจากต่างประเทศถึงความเป็นพิษอย่างรุนแรงของการใช้Xylazine ในคน ซึ่งพบว่ามีทั้งหลายระดับ ทั้งเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งขึ้นกับปริมาณยาที่ได้รับ
@เหตุใดยาตัวนี้จึงนิยมใช้ในสัตว์
จริงๆ แล้ว ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาตัวยาอื่นขึ้นมา เพื่อใช้เป็นยาสงบประสาท เพื่อใช้เป็นทางเลือก ซึ่งมีทั้งในยากลุ่มเดียวกัน และยากลุ่มอื่นๆ อีกหลายชนิด แต่เนื่องจาก Xylazine เป็นยาที่มีราคาไม่สูงมากนัก และเมื่อใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังมีความปลอดภัย และใช้ได้ดีในสัตว์ที่แข็งแรง โดยเฉพาะในกรณีทำหมันสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัขและแมว ที่ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากสามารถระงับความรู้สึกได้ดี และผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย จึงทำให้ทำการผ่าตัดได้ง่าย นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการผ่าตัดบางอย่างในโค กระบือ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อย และสามารถสงบประสาทได้ดี จึงทำให้ในปัจจุบัน “Xylazine จึงยังเป็นที่นิยมในทางการสัตวแพทย์”
@มียาแก้พิษหรือยาต้านความเป็นพิษของยาตัวนี้หรือไม่
มีการศึกษาถึง การใช้ยาที่ใช้แก้ฤทธิ์ของ Xylazine นั่นคือ การใช้ยาในกลุ่มตรงข้ามกัน ได้แก่กลุ่ม α2 adrenergic antagonist เพื่อให้ผลหักล้างกัน ซึ่งในทางสัตวแพทย์นั้น มีการใช้กันหลายตัว ได้แก่ Yohimbine, tolazoline และ atipamezole ซึ่งสามารถใช้กำจัดฤทธิ์ของ Xylazine ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณที่ใช้ในแต่ละขนาดตัว
เมื่อปีพ.ศ. 2556 คณะกรรมการยาได้มีการปรับยกระดับยาสำหรับสัตว์ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง 4 กลุ่ม เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” โดยที่ Xylazine ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งกำหนดให้แสดงข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา คือ “ขายตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น” และ “ใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี การนำ Xylazine ไปใช้ในทางที่ผิดหรือในเชิงอาชญากรรมนั้น เป็นข่าวออกมาอยู่บ่อยครั้งทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็เคยมีการรายงานมาแล้วเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นที่ฮือฮา และเกิดความวิตกกันในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก
แม้ในปัจจุบัน ในวงการสัตวแพทย์เอง ก็มีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พบปัญหาใดๆ เพราะจำกัดวงการใช้ในการรักษาและการผ่าตัดระยะสั้น แต่การที่มีผู้นำไปใช้โดยไม่เหมาะสมนั้น อาจต้องระมัดระวัง และได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน ที่มีการขายของออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจนเกินขอบเขตการควบคุม ซึ่งเมื่อทดลอง search ชื่อยาอันตรายต่างๆ หลายตัว ในโลกอินเตอร์เนต เราจะสามารถพบเห็นการประกาศขายกันอย่างไม่เกรงกลัวการถูกจับกุมเลยทีเดียว ดังนั้น “การระมัดระวังตนเอง และการสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด” จึง “เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและคนที่เรารักครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี