สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของการเปิดภาคการเรียนในประเทศไทย หลังจากที่ต้องเลื่อนการเปิดเรียนออกไป (จากเดือนพฤษภาคม) เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และถือโอกาสนี้เดินทางไปมอบของใช้ที่จำเป็น อาทิ เครื่องวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์เจล และหน้ากากอนามัย ให้กับทางโรงเรียนต่างๆ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ได้รับโอกาสสนทนากับผู้อำนวยการของโรงเรียนแต่ละท่านในหลายประเด็น ซึ่งก็พบปัญหาคล้ายๆ กันในทำนองที่ว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของประเทศไทยนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะขาดความเข้าใจและใส่ใจทั้งในเชิงโครงสร้างของระบบ และนโยบายจากทางภาครัฐ รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาคประชาชน บทความชิ้นนี้จึงขอสื่อสารในประเด็นดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาร่วมกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยข้อมูลของรายงานการติดตามการศึกษาของโลก จาก “UNESCO”พบว่า เด็กเล็กและวัยรุ่นทั้งหญิงและชายมากกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก ยังคงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และไม่ได้รับความใส่ใจในเรื่องนี้เท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา มีอัตราการเข้าถึงการศึกษาของประชากรในประเทศต่ำมากถึงมากที่สุด และที่เลวร้ายไปกว่านั้นการมาถึงของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลกอย่างรุนแรงยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการศึกษาของประเทศดังกล่าวแย่ลงไปกว่าเดิมหลายเท่านัก
ในรายงานระบุว่า “ความยากจน”เป็นอุปสรรคหลักสำหรับการเข้าถึงการศึกษา เมื่อลงรายละเอียดที่ลึกไปกว่านั้น ก็พบว่า มีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่กำหนดในกฎหมายเอาไว้ว่า เด็กและคนหนุ่มสาวต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ด้วยการสนับสนุนจากทางภาครัฐในด้านต่างๆ ที่น่าตกใจ หากไม่รวมประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกมีอัตรานักเรียนที่ศึกษาจบระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (หรือเทียบเท่า)เพียงร้อยละ 18 เท่านั้น และมากถึงร้อยละ 31 ของเยาวชนทั่วทั้งโลกที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย
ด้วยสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น ระหว่างภูมิภาคที่ร่ำรวย กับภูมิภาคที่ยากจน ระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูง กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสะท้อนให้เห็นภาพอันชัดเจนผ่านอัตราการจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายของกลุ่มเด็กที่ร่ำรวยร้อยละ 20จะมีโอกาสมากกว่าเด็กยากจนถึง 3 เท่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแม้แต่ประเทศไทยเอง ที่มีนโยบายเรื่องการเรียนฟรี12 ปี ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้เรียนฟรีจนจบการศึกษาที่กำหนดได้ เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งมีภาระหน้าที่ในการดูแลตัวเองและครอบครัวเป็นสำคัญ การให้น้ำหนักต่อการหารายได้จึงมีความสำคัญมากกว่าการเรียนต่อไปในระบบการศึกษาปกติรวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงเรียนที่เพิ่มเติมเข้ามา ก็สร้างภาระที่มากขึ้นให้กับตัวนักเรียน หรือครอบครัวของนักเรียน อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของผู้ปกครองบางส่วนที่มองไม่เห็นคำตอบของระบบการศึกษา ว่าจะตอบโจทย์ชีวิตของเด็กในรูปแบบใด จึงเลือกที่จะวางอนาคตให้พวกเขาเสียเอง ด้วยการให้เด็กๆ ออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยทำงานหรือกิจการที่บ้าน
ที่นำเสนอมาในเบื้องต้น เป็นแค่เพียงสถิติด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์ปกติเท่านั้น เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลุกลามขึ้นมา “UNESCO” รายงานว่า ประเทศที่อยู่ในเกณฑ์มีรายได้น้อยและปานกลาง ไม่สามารถรองรับการเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนอย่างยาวนานได้ แม้ว่าจะมี “การเรียนออนไลน์” เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือก็ตาม แต่แทนที่จะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ตามความคาดหวังของรัฐบาลในหลายประเทศ กับยิ่งบ่งชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไม่มีข้ออ้าง และคำแก้ตัวอันใดมาปกปิดได้อีก เมื่อภาพนักเรียนจำนวนมากขาดอุปกรณ์สำหรับการเข้าถึงการศึกษาในระบบออนไลน์ และเสียงวิงวอนขอความเห็นใจจากผู้ปกครองมากมายที่สื่อสารกลับไปยังรัฐบาลในเรื่องของความไม่พร้อมและอุปสรรคจากสถานะที่ไม่เอื้ออำนวย ที่สำคัญ โรงเรียนหลายแห่งก็ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายการศึกษาออนไลน์ได้ เพราะงบประมาณกับศักยภาพที่มีนั้น ไม่เพียงพอต่อการสร้างประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน
และนอกเหนือจากปัจจัยด้านความยากจนแล้ว “ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ยังมีอุปสรรคในเรื่องของ เพศที่อยู่ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีส่วนในการจะกำหนดว่าใครสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หรือไม่นี่เป็นเรื่องจริงที่ยังคงดำรงอยู่บนโลกใบนี้ และยากจะปฏิเสธ
เด็กจำนวนหนึ่งได้รับการเลือกปฏิบัติทางด้านการเข้าถึงการศึกษา เพียงเพราะเป็นผู้ลี้ภัย พิการ หรือต้องการการดูแลที่พิเศษกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งในหลายประเทศ อาทิ มาลาวี ยูเครน และคิวบา ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และมีการเพิ่มโรงเรียนหรือศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเหล่านั้นให้มากขึ้น รวมไปถึงในแต่ละประเทศก็มีความพยายามในการปรับปรุงโครงสร้างการเรียนการสอนให้สร้างอัตราการมีส่วนร่วมระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตร ด้วยการนำภาษาถิ่นมาใช้ในชั้นเรียนการปรับเวลาเรียนให้เหมาะสมกับตารางประเพณีในแต่ละบริบทของนักเรียน และการสร้างหนทางในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในระบบพิเศษ
สำหรับประเทศไทยเอง ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา เรามีนโยบายมากมายที่ส่งเสริมการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรียนฟรี 12 ปี หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งได้ริเริ่มเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “นายชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เพิ่มโอกาสเด็กๆ ในการเข้าถึงการศึกษาแล้วมากถึง 6 ล้านคน และในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้เอง ก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองจำนวนมาก เพื่อให้เด็กสามารถที่จะอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
และที่ต้องให้น้ำหนักอีกประเด็นก็คือ เรื่อง “คุณภาพทางการศึกษา”ซึ่งก็ไปเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ ประเทศไทยของเรา ที่ระบบการจัดสรรงบประมาณที่เคลื่อนไปยังแต่ละโรงเรียนในสังกัดนั้น จะอ้างอิงจากจำนวนนักเรียนเป็นหลัก ยิ่งนักเรียนเยอะ งบประมาณยิ่งแน่นดังนั้น ถ้าคิดด้วยกรอบเช่นนี้ ทิศทางในการขอรับงบประมาณของโรงเรียนโดยทั่วไปก็จะเอาปริมาณนักเรียนเป็นตัวตั้ง ถ้าอยากได้เงินเยอะๆ ก็รับนักเรียนเยอะๆ จากนั้นก็เอาเงินเยอะๆ มาสร้างอาคารเรียนเยอะๆ ใหญ่ๆ เพื่อปีการศึกษาต่อไปจะได้สามารถรับนักเรียนเยอะๆ ได้มากกว่าเดิม และนำมาซึ่งงบประมาณเยอะๆ ที่มากกว่าปีที่แล้ว
ท้ายที่สุด โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะมาแข่งขันกันสร้างอาคารเพื่อรองรับนักเรียนสำหรับการขอรับงบประมาณในปีต่อๆ ไปเท่านั้น คำถามก็คือ แล้วคุณภาพในการเรียนการสอนล่ะ จะมีงบประมาณอะไรเข้าไปขับเคลื่อนมั้ย อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนอีก นักเรียนจะสามารถมีใช้ครบทุกคนหรือไม่ และคุณภาพ
ของเครื่องมือเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ในการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบตรงนี้จะต้องเป็นของใคร เหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันกลั่นกรอง และช่วยกันยกระดับการบริหารจัดการงบประมาณสำหรับโรงเรียนกันเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นโรงเรียนจะเต็มไปด้วยอาคารร้างมากมาย แต่ไร้ซึ่งคุณภาพของสาระวิชาที่นักเรียนควรจะได้ติดตัวออกมานอกเหนือจากใบประกาศนียบัตรของโรงเรียน
ทั้งหมดนี้บอกกับเราว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวันนี้ ยังคงเป็นหลุมดำที่ดูดกลืนอนาคตและความฝันของเด็กจำนวนมากบนโลกใบนี้อย่างโหดร้าย และต้องยอมรับว่า การเข้าไปแก้ไขนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผล หรือข้ออ้าง ที่เราจะไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจโดยตรง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี