สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังเป็นที่น่ากังวล จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันยังเป็นหลักร้อย แม้จะอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดโดยมาตรการในการป้องกันจากทางภาครัฐก็ตาม ดังนั้น “การป้องกันตนเองไม่ให้สัมผัสกับความเสี่ยง” จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไอหรือจาม เป็นต้น
แต่ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นการป้องกันในคน แล้วการป้องกันในสัตว์เลี้ยงของเราล่ะ ควรทำอย่างไร? วันนี้ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำในสัตว์ (EIDAs) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกันครับ
@สุนัขและแมวติดโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงาน โควิด-19 ในสัตว์ แม้ในต่างประเทศ จะมีรายงานโควิด-19 ในสุนัขและแมว แต่ต้องย้ำว่า “พบน้อยมาก” ซึ่งพบเฉพาะสัตว์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากๆ จริงๆ
@เราควรดูแลสุนัขและแมวอย่างไร เมื่อมีคนในบ้านติดโรคโควิด-19
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขและแมว หรือสัตว์อื่นๆ
2. ให้อาหารและน้ำสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติ แต่ควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสตัวสัตว์ และกรงสัตว์
3. กรณีไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ สามารถให้ผู้อื่นดูแลแทนได้ตามข้อควรปฏิบัติ ไม่ควรทิ้งหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายเชื้อสู่สังคมได้
@ ข้อควรปฏิบัติ เมื่อสุนัขและแมวติดโรคโควิด-19
1. ไม่ควรทิ้งหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงที่ติดโรคโควิด-19 อย่างเด็ดขาด
2. สังเกตอาการในสัตว์เลี้ยง ซึ่งสัตว์อาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเล็กน้อย เช่น ไอ จาม หอบหายใจลำบาก อาเจียน ท้องเสีย และมักหายได้เองใน 2 สัปดาห์
3. ควรดูแลและแยกเลี้ยงสัตว์ในบ้านของท่านโดยแยกขังกรงประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าได้รับการตรวจยืนยันว่าปลอดจากเชื้อไวรัส ทั้งนี้ ยัง”ไม่มี”รายงานการติดเชื้อจากสุนัขและแมวสู่คนครับ
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขและแมว ควรรักษาระยะห่าง สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และล้างมือทุกครั้ง ที่สัมผัสตัวสัตว์และกรงสัตว์
5. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ชามน้ำ-อาหาร ผ้าขนหนู เครื่องนอน และกรงสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
6. เก็บอุจจาระ ปัสสาวะ หรือของเสียต่างๆ ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และล้างมือทุกครั้ง และใส่ถุง 2 ชั้นก่อนทิ้ง
7. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ควรให้สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ดูแลสัตว์แทน
8. ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการป่วย ควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรือโทรปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ (โควิด-19 ในสัตว์) โทร. 065-597-2422
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี