ในปัจจุบัน คาดการณ์ว่าประเทศไทยเข้าจะสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปีพ.ศ.2564 นี้ภัยเงียบที่มากับสังคมผู้สูงอายุคือโรคกระดูกพรุน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีกระดูกหักได้ง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง
ภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ เป็นภาวะการบาดเจ็บที่ถือว่ารุนแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันการ โดยความเสี่ยงของการหักเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อคนเราอายุเพิ่มขึ้น กระดูกจะเริ่มบางลง เรียกว่าภาวะกระดูกพรุนนอกจากนี้คนสูงอายุมักมียาประจำตัวหลายชนิดซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงหรือมึนงง สายตาฝ้าฟางมองไม่ชัด และมีปัญหาเรื่องการทรงตัวที่ไม่ดี ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะล้มแล้วเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักตามมา
เมื่อกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณรอบสะโพก ไม่สามารถเดินหรือยืนลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้นได้, อาจยืนได้แต่ปวดมากที่บริเวณข้อสะโพกหรือต้นขา, พบรอยช้ำที่สะโพกข้างที่ล้ม, ขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บสั้นลงกว่าอีกข้างและไม่สามารถขยับสะโพกได้ ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุที่พบมากที่สุดคือ การหกล้มลงบนพื้น ในผู้สูงอายุบางรายกระดูกพรุนมาก แค่ยืนแล้วมีการบิดตัว อาจทำให้กระดูกสะโพกหักได้เช่นกัน
สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดตามมาจากภาวะกระดูกสะโพกหัก คือ ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งจะไม่สามารถกลับไปเดินเหมือนเดิมได้อีก ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา, แผลกดทับ, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะและทางเดินหายใจ เป็นต้น โรคแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหัก
การป้องกันสามารถทำได้ โดยการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนด้วยการ
1.รับประทานแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม และวิตามินดีอย่างน้อยวันละ 600 i.u.
2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา
4.จัดบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการหกล้ม
5.ตรวจสุขภาพการมองเห็นเป็นประจำ
6.ปรึกษาแพทย์ ถ้ายาที่ท่านทานทำให้ง่วงหรือ อ่อนเพลีย
7.ลุกขึ้นยืนช้าๆ เดินด้วยความระมัดระวัง
8.ใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำยันแบบสี่ขาช่วยพยุง
การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักทำได้โดยการเอกซเรย์ข้อสะโพก ซึ่งต้องพาผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล ไม่ควรรอ เนื่องจากจะทำให้การรักษาช้าและเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
การรักษาแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 1.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total hip arthroplasty,Hemiarthroplasty) ซึ่งใช้ในกระดูกคอสะโพกหัก(Neck of femur) (รูปที่1) และ 2.การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะดาม (Cephalomedullary nail, DHS) ซึ่งใช้ในกระดูกหักบริเวณอินเตอร์โทรแคนเตอร์ (Intertrochanter of femur) (รูปที่ 2)
รูปที่1 กระดูกคอสะโพกหัก และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิด Bipolar
รูปที่2 กระดูกหักชนิดอินเตอร์โทรแคนเทอร์ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะดาม
ผู้ป่วยสามารถเริ่มฝึกเดินได้ทันทีหลังจากการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และศัลยแพทย์กระดูกจะทำการประเมินและให้การรักษาภาวะกระดูกพรุนด้วยยากลุ่ม Bisphosphonate ร่วมกับเสริมแคลเซียมและวิตามินดี อีกทั้งมีทีมกายภาพบำบัด,จักษุแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้สูงอายุร่วมดูแล เป้าหมายของการรักษาคือ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ก่อนที่จะเกิดกระดูกหัก
ขอสรุปว่าภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่ฉุกเฉินและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ภายใน 48-72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้สำหรับความเชื่อที่ว่า “อายุมากแล้ว ผ่าไปเดี๋ยวก็ตาย” นั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะถ้าสามารถผ่าตัดได้โอกาสรอดชีวิตในกลุ่มที่ผ่าตัดสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ผ่าตัดแน่นอน
บทความโดย นพ.พงศกร บุบผะเรณู
ผู้เชี่ยวชาญ สาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชวิถี
ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี