สถานการณ์ COVID-19 กำลังอยู่ในกระแสน่าเป็นห่วง และต้องการการควบคุมป้องกันอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะเริ่มมีการนำวัคซีนมาใช้บางส่วนแล้วก็ตาม ตามหลักวิชาการทางการแพทย์ การคัดกรองโรคเป็นขั้นตอนสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อทุกโรค ซึ่งหากเราสามารถแยกผู้ป่วย (หรือผู้ติดเชื้อ) ออกมารักษาได้เร็วเท่าใด ก็จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้เร็วเท่านั้น
ทั้งนี้รูปแบบของการเกิดโรคโควิด-19 ในคนนั้น มีทั้งผู้ป่วยที่ “แสดงอาการ” และ “ไม่แสดงอาการ” ทำให้การคัดแยกผู้ป่วยทำได้ยาก โดยเครื่องมือที่ใช้คัดกรองคือ “เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ” ซึ่ง “ไม่” สามารถแยกผู้ป่วยที่ “ไม่แสดงอาการ”ออกไปได้ ทีมวิจัย จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ นำโดย ศาสตราจารย์สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ ได้นำความสามารถของสุนัขในการแยกแยะกลิ่น มาใช้แยกผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ ในชื่อโครงการ “K9 Dogs Sniff COVID-19”
โครงการ “K9 Dogs Sniff COVID-19” นี้ เป็นโครงการวิจัยจากความร่วมมือของ 3 คณะ ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ (ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) และ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และได้รับความร่วมมือจากกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43
โครงการนี้ใช้สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ จำนวน 6 ตัว เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เชื่อฟังคำสั่งได้ดี ฉลาด เป็นมิตร ทำให้ใช้ระยะเวลาการฝึกไม่นาน ซึ่งจริงๆ แล้ว สุนัขทุกสายพันธุ์มีความสามารถในการดมกลิ่นไม่แตกต่างกัน โดยมีตัวรับกลิ่นในโพรงจมูกมากกว่ามนุษย์กว่า 50 เท่า และมีความไวในการตรวจหาสารปริมาณน้อยๆ ในอัตราส่วน 1 ต่อล้านล้านส่วนได้
ทีมวิจัยได้เลือกใช้สารระเหยจาก “เหงื่อ” เป็นตัวอย่างให้สุนัขจดจำกลิ่น เพราะ “ในเหงื่อไม่มีตัวไวรัส” โดยการซับเหงื่อจากผู้ป่วยใส่ในขวดแก้วเก็บกลิ่น บรรจุถุงพลาสติก 3 ชั้นตามมาตรฐาน นำไปผ่านการทำลายเชื้อในห้องปฏิบัติการเพื่อความมั่นใจอีกครั้ง แล้วจัดส่งโดยบริษัทขนส่งชีววัสดุที่ได้รับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ไปยังสุนัขที่ผ่านการฝึกโดยผู้ฝึกสุนัขที่ได้รับการอบรมด้านความปลอดภัยในการจัดการชีววัตถุเป็นอย่างดี
กว่าจะถึงขั้นตอนการตรวจสอบ สุนัขจะถูกฝึก 3 ระยะ คือ การฝึกเชื่อฟังคำสั่ง ฝึกจำกลิ่น และฝึกความแม่นยำ และทำการทดสอบตัวละกว่า 500 ครั้ง พบว่าสุนัขตัวที่มีความไวในการดมกลิ่นสูงสุดเท่ากับ 98.7% ความแม่นยำเฉลี่ย 6 ตัวเท่ากับ 95% กลิ่นตัวจึงไม่มีผลกระทบต่อความแม่นยำของสุนัข
หลายคนอาจเป็นห่วงว่า สุนัขจะปลอดภัยจากการติดเชื้อได้ หรือโอกาสนำไปติดผู้อื่นหรือไม่ อาจารย์เกวลีเน้นว่า การดมกลิ่นของสุนัขนั้น “ไม่มีการดมสัมผัสโดยตรงกับคน” จึงไม่มีโอกาสติดเชื้อได้
สำหรับกรณีสุนัขที่เลี้ยงในบ้าน หากที่บ้านมีผู้ป่วยโควิด-19 ก็ควรรักษาระยะห่างจากสัตว์เลี้ยง เพราะแม้ว่าตัวรับ (receptor)ในสุนัข จะ “ไม่ไวต่อการติดเชื้อโควิด-19” และสัตว์อาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ จาม รวมถึงมักหายเองใน 2 สัปดาห์ก็ตาม แต่เชื้อไวรัสก็อาจปะปนไปกับร่างกายของสุนัขและติดต่อสู่คนโดยการสัมผัส (คล้ายการสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วย) ก็ได้
ในอนาคตอันใกล้ คณะวิจัยได้ทำการออกแบบวัสดุและวิธีการไว้เพื่อให้สามารถนำไปใช้การลงพื้นที่จริง เช่น สนามบิน ซึ่งต้องกำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีขอบเขตมิดชิด ให้สุนัขได้ทำงานอย่างสงบ เก็บเหงื่อผู้ถูกตรวจสอบโดยใช้แท่งสำลีเช่นเดียวกับที่ทำในงานทดลอง นำมาใส่กระป๋องในขาตั้ง แล้วเรียงให้สุนัขเดินดม
หากตั้งด่านตรวจคัดกรองโดยสุนัขดมกลิ่นได้ที่สนามบินก่อนเข้าเมืองหรือแม้กระทั่งก่อนขึ้นเครื่องบินได้ ก็จะช่วยลดการปะปนของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการออกไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 เป็นอย่างมาก
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี