คงต้องเริ่มต้นกันที่ประเทศพม่าซึ่งทั่วโลกน่าจะทราบกันดีแล้วว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของ “มิน อ่อง หลาย”ประธานสภารัฐประหารของพม่า ได้เข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนอย่างรุนแรง กระสุนจริงถูกนำมาใช้ยิงคนที่ขัดขืน จนทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าสองร้อยศพไปแล้ว ณ ตอนนี้ และที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างมากก็คือ ความตายของ “ด.ญ.ขิ่น เมียว ชิต” ในอ้อมอกพ่อของเธอ หลังจากทหารบุกเข้าไปค้นบ้าน และทำการลั่นไกหวังปลิดชีวิตพ่อของเธอ แต่กระสุนพลาดเป้าดันทะลุเข้าไปที่ร่างของสาวน้อยวัย 7 ขวบอย่างจัง เธอเสียชีวิตทันที เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งประเทศตกอยู่ในความเศร้า และหันมาใช้ปฏิบัติการที่แสดงออกถึงการไม่ยอมรับในการปกครองของคณะรัฐประหารด้วยการอยู่บ้าน แทนการออกมาประท้วงบนท้องถนน ในช่วงปลายเดือนมีนาคม (2564) ที่ผ่านมา
“อะตันเตะ ตะเป๊ะ” หรือการ “ประท้วงไร้เสียง” (Silence Strike) เกิดขึ้นที่ย่างกุ้ง และอีกหลายเมือง ด้วยการหยุดทุกอย่างในเมืองนั้น ไม่ทำงาน ไม่ขายของ ไม่เดินทาง ไม่วิ่งรถ ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน เพื่อส่งสัญญาณไปยังคณะรัฐประหารของ มิน อ่อง หลาย ว่า ถ้ายังอยู่ในอำนาจ ถ้ายังไม่ปล่อยให้พม่ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย ถ้ายังไม่ปล่อยตัวคนเห็นต่าง โดยเฉพาะ“นางออง ซาน ซู จี” และถ้ายังเข่นฆ่าประชาชนอย่างเหี้ยมโหด ประชาชนจะไม่ทนมีส่วนร่วมอันใดก็ตามทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม กับส่วนกลางหรือคณะบริหารประเทศชุดนี้อีกต่อไป รวมไปถึงเป็นการแสดงความเคารพในจิตวิญญาณนักสู้เพื่อประเทศชาติ และระลึกถึงการเสียสละของผู้เสียชีวิตในเหตุปราบการชุมนุมที่ผ่านมาด้วย
ภาพหลายเมืองในพม่าที่เปรียบดังเมืองร้างได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่วโลก และแม้ว่าประชาชนจะกลับมาลงท้องถนนอีกครั้งในอีกไม่กี่วันถัดมาแต่การลงโทษทางสังคมต่อรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการหยุดงานของกลุ่มอาชีพที่มีความสำคัญของประเทศ อาทิครู พนักงานรถไฟ หมอ และตำรวจ (ตำรวจหลายนายที่ไม่อยากฆ่าประชาชน ก็เลือกที่จะหนีไปยังอินเดีย เพราะกลัวการลงโทษที่โหดร้ายจากผู้บังคับบัญชา) การไม่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของร้านค้าต่างๆ การเลิกอุดหนุนสินค้าที่มาจากบริษัทของทหาร และหยุดการซื้อสลากกินแบ่งที่รายได้จะตกไปเป็นของรัฐบาล รวมไปถึงการไม่จ่ายค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมดของประชาชน
นี่เป็นการลงโทษทางสังคมที่น่าจะทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ (หรืออาจอยู่ในลำดับต้นๆ) เมื่อกฎหมาย ความชอบธรรม มโนสำนึก ไม่สามารถจัดการได้การแสดงออกถึงความไม่พอใจ การไม่ยอมรับ การแสดงความรังเกียจ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาชน ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นรูปแบบของการอารยะขัดขืนที่ได้รับการยกระดับอย่างมีพลัง และชัดเจนต่อเป้าหมายอันแท้จริง
ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงประเด็นของ Social Sanction หรือปฏิบัติการสังคมลงโทษแล้ว ก็อยากนำเสนอสถานการณ์ในทำนองนี้ที่น่าสนใจ แม้จะไม่ทรงพลังทางการเมืองอย่างในพม่า แต่ก็คล้ายจะมีความเชื่อมโยงต่อกันอยู่บ้าง และมีรูปแบบเสมือนสงครามเย็นขนาดย่อม (รอวันปะทุ) ซึ่งเชื่อว่า น่าจะทำให้เราได้มองเห็นทิศทางของโลกแห่งอนาคต และการเมืองในระดับประเทศได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อสหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมไปถึงการสนับสนุนจากนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียที่ร่วมกันประกาศมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมถึงสำนักงานที่กำกับดูแลการบริหารจัดการนโยบายด้านความมั่นคง และศูนย์ควบคุมในซินเจียงประเทศจีน ในประเด็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ที่อาศัยอยู่ในแคมป์ ซึ่งสร้างขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทั้งการกระทำทารุณกรรม การบังคับใช้แรงงาน และการล่วงละเมิดทางเพศ
จากนั้นโลกออนไลน์ก็มีการเผยแพร่แถลงการณ์ของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำจากตะวันตก อาทิ เอชแอนด์เอ็ม (H&M)ไนกี้ (Nike) และ อาดิดาส (Adidas)ที่เคยประกาศจุดยืน ไม่ซื้อฝ้ายที่ผลิตในพื้นที่ “ซินเจียงอุยกูร์” หรือประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทในพื้นที่ซินเจียง เพราะเชื่อว่ามีการกักกันชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์กว่า1 ล้านคน ไว้ในแคมป์ ที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อล้างสมองทางการเมืองและใช้แรงงานในการเก็บฝ้าย หลังจากมีรายงานในประเด็นดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และแม้ว่าทางการจีนจะปฏิเสธ แต่ก็ไม่เคยได้เปิดทางให้สื่อ หรือหน่วยงานทางสิทธิมนุษยชนใดก็ตาม ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริเวณนั้นเลย
กระนั้น ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน ก็มิได้ถูกตั้งคำถามจากประชาชนคนในประเทศสักเท่าไหร่ เมื่อสื่อกระแสหลักและบุคคลที่ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงศิลปินดาราชั้นนำของที่นั่น ได้ปลุก “กระแสรักชาติ” ตอบโต้แบรนด์สินค้าจากทางตะวันตกกลับไป ด้วยการบอยคอตต์ หรือSocial Sanction สินค้าเหล่านั้นอย่างเข้มข้น จนทำให้ร้านของแบรนด์เหล่านั้นที่เปิดอยู่ในประเทศจีนไม่มีคนเข้าไปจับจ่ายใช้สอย ถึงขนาดที่แบรนด์อื่นๆ อย่าง Zara และ Hugo ต้องออกมาให้ข่าวว่า ไม่ได้หยุดการใช้ฝ้ายผลิตสินค้าและยังคงสนับสนุนฝ้ายจากซินเจียงต่อไป นี่ก็เป็นอีกหนึ่งอิทธิพลของปฏิบัติการสังคมลงโทษ ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสังคม ได้ไม่แพ้การสร้างความรุนแรง ต่างกันก็แค่เพียงไม่มีใครต้องมาตายจากความไม่พอใจต่อกัน ส่วนเรื่องข้อเท็จจริง และความถูกต้อง ท้ายที่สุดก็คงอยู่ที่การเจรจา และประเด็นที่ว่า ใครจะทนกับความเสียหายได้มากไปกว่ากัน
อันที่จริง การปลุกกระแสรักชาติของจีน ต่อประเด็นแบนฝ้ายซินเจียงก็เป็น Social Sanction อย่างหนึ่ง และสถานการณ์ทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นใน “สงครามสับปะรด” ที่ “ไต้หวัน” เมื่อทางการจีนประกาศแบนการนำเข้า ด้วยการให้เหตุผลว่า พบยาฆ่าแมลงในนั้น ทำให้สับปะรดกว่า 90% จากไต้หวัน ไม่สามารถส่งไปขายที่จีนได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ (ในปี 2020) ทำรายได้ให้ไต้หวันมากถึง 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่า ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกสับปะรดได้พบกับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น “เป็นเรื่องของการเมือง” จีนกำลังกลั่นแกล้งไต้หวัน ด้วยความไม่พอใจในประเด็นการไม่ยอมกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตามที่โลกรับทราบกันดี และนี่เองที่ทำให้ชาวไต้หวัน ปฏิบัติการสังคมลงโทษต่อจีน ด้วยการให้สังคมรวมใจช่วยกันอุดหนุนสับปะรด จนรัฐบาลของ “ไช่ อิง เหวิน” ประธานาธิบดีไต้หวัน สามารถขายสับปะรดในไต้หวันหมด 2 หมื่นตันภายใน 4 วัน และเริ่มมองหาตลาดใหม่ (ต่างประเทศ) สำหรับสับปะรดของพวกเขาในฤดูกาลต่อไป
ปฏิบัติการสังคมลงโทษ (หรือสังคมรวมใจ) ที่เล่ามานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเชื่อว่า น่าจะมีเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกเพราะการแสดงความไม่พอใจ หรือพอใจใดๆ เพื่อเรียกร้องกับอำนาจที่สูงกว่าอย่างละมุนละไมเช่นนี้ น่าจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและปลอดภัยที่สุด สำหรับประชาชน ณ ขณะนี้ ในการได้มาซึ่งความต้องการที่ยากจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะด้วยเป้าประสงค์แบบใดก็ตาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี