ผู้เลี้ยงแมวหลายท่านคงเคยประสบปัญหา น้องแมว เบื่ออาหาร มีกลิ่นปาก น้ำลายมีลักษณะเหนียวๆ ไหลย้อยตลอดเวลา หลายตัวแสดงอาการเจ็บจนไม่ยอมให้จับบริเวณปาก ซึมลง และมีพฤติกรรมแยกตัวปัญหาเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจาก โรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมว (Feline Chronic Gingivostomatitis) วันนี้ผมก็มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก จาก อ.สพ.ญ.ดร.ประภาพร จงวัฒนาไพศาล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ
โรคนี้พบได้ในแมวกลุ่มไหนบ้าง :
โรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมวเป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในแมวทุกรุ่น ซึ่งไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดช่วงอายุ ตั้งแต่ลูกแมวจนถึงแมวแก่เลยทีเดียว
อาการที่พบได้บ่อย :
เจ้าของหลายท่านมักพาแมวมาพบสัตวแพทย์ด้วยอาการเหล่านี้แมวเบื่ออาหาร มีกลิ่นปากเหม็น ไม่ยอมให้จับบริเวณปาก น้ำลายสอตลอดเวลา อาจพบเลือดไหลออกจากปากในกรณีที่รอยโรคค่อนข้างรุนแรง แมวอาจแสดงพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วย เช่น ซึมลง แยกตัว แมวที่เจ้าของสังเกตอาการได้เร็ว ก็มักจะยังมีสภาวะร่างกายโดยทั่วไปดูปกติ ในขณะที่แมวที่ป่วยด้วยโรคช่องปากอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้กินอาหารไม่ได้จะมีภาวะทุพโภชนาการ ผอม ขนหยาบเป็นก้อนร่วมด้วย เนื่องจากขาดการเลียขนตัวเอง
ลักษณะที่พบเป็นอย่างไร :
ลักษณะรอยโรคในช่องปากมีความหลากหลาย ตั้งแต่รอยแดงอักเสบของเหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์และผนังช่องปาก ไปจนถึงการมีแผลหลุมหรือกลุ่มเซลล์ที่เจริญผิดปกติเป็นก้อนขึ้นมา โดยเฉพาะการอักเสบมีแผลหรือก้อนเนื้อด้านหลังช่องปากบริเวณมุมระหว่างเพดานปากและโคนลิ้น (glossopalatine arches) ที่มักจะรักษาหายยาก และพบว่าเป็นๆ หายๆได้บ่อยครั้ง
โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากอะไร :
สาเหตุของการอักเสบในช่องปากในแมวนั้นยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกันที่เป็นผลให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในช่องปากมากเกินไป โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดโรคนั้นนอกจากความเครียด โรคของปริทันต์และฟัน การมีคราบแบคทีเรีย (biofilms)ที่สร้างจากแบคทีเรียในช่องปากเองแล้ว ยังสามารถเกิดจากภาวะที่แมวมีเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิดภายในร่างกาย เช่น feline calicivirus, feline immunodeficiency virus, feline leukemia virus, bartonella เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยทำได้อย่างไร :
การตรวจภายในช่องปากอย่างละเอียดมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยโรค บางครั้งแมวที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือวางยาสลบเพื่อให้สามารถตรวจภายในช่องปากได้นอกจากนี้ การถ่ายภาพเอกซเรย์จะช่วยวินิจฉัย บอกความรุนแรงของโรคฟันและปริทันต์ และช่วยวางแผนการรักษาได้ด้วย กรณีที่มีก้อนเนื้อเยื่อเจริญผิดปกติหรือการอักเสบเรื้อรังในช่องปาก การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาจะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคระหว่างภาวะการอักเสบของเนื้อเยื่อช่องปากกับเนื้องอกหรือมะเร็งชนิดต่างๆ ได้
การรักษาทำได้อย่างไร :
การรักษาโรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมวนั้น มีเป้าหมายเพื่อหยุดขบวนการอักเสบ ลดความเจ็บปวดภายในช่องปากและทำให้แมวกลับมากินอาหารและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
-การถอนฟัน
จากการศึกษาพบว่าการถอนฟันช่วยให้แมวส่วนใหญ่สามารถหายจากโรคหรืออาการดีขึ้นในระยะยาว เนื่องจากช่วยลดแหล่งสะสมของแบคทีเรียและลดการอักเสบได้ โดยการถอนฟันอาจทำการถอนฟันทั้งช่องปาก หรือถอนเฉพาะฟันกรามน้อยและฟันกรามใหญ่ทั้งบนและล่าง นอกจากการถอนฟัน ขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาทางยา
-การรักษาทางอายุรกรรม
โดยการให้ยากลุ่มยาลดปวด ยากดภูมิคุ้มกัน และยาปฏิชีวนะ การให้ยาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่ม NSAID ให้ผลดีในการบรรเทาอาการอักเสบและเจ็บปวด โดยเฉพาะในแมวที่มีปัญหาโรคติดเชื้อจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้สเตียรอยด์ แต่ควรพิจารณาให้ภายใต้ดุลยพินิจของสัตวแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความผิดปกติของไตตามมา
การให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ สามารถให้ร่วมกับการทำฟันเพื่อลดปริมาณแบคทีเรียในช่องปาก เพื่อช่วยลดกระบวนการอักเสบ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะควรใช้ตามความจำเป็นและใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้ การใช้ยากดภูมิคุ้มกันสามารถใช้เพื่อลดการอักเสบในช่องปากทำให้ความเจ็บปวดลดลงแต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
-การปรับเปลี่ยนลักษณะของอาหาร
เจ้าของสามารถช่วยปรับเปลี่ยนอาหาร เป็นอาหารที่มีความนิ่มและมีความน่ากินเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร หรืออาจให้อาหารสำหรับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะในช่วงที่ทำการรักษาเพื่อให้แมวได้รับสารอาหารเพียงพอและฟื้นตัวได้ดี
-การรักษาความสะอาดในช่องปาก
การช่วยทำความสะอาดช่องปากหลังมื้ออาหาร หรือกระตุ้นให้แมวกินน้ำมากขึ้นจะช่วยกำจัดเศษอาหารในช่องปากเพื่อลดการเกิดคราบแบคทีเรียได้
สิ่งที่เจ้าของสัตว์สามารถทำได้ เบื้องต้นและเป็นประจำคือหมั่นสังเกตความผิดปกติ และพฤติกรรมการแสดงออกของน้องแมว รวมถึงตรวจตราสุขภาพร่างกายของแมว (ด้วยตัวเอง) เช่น ผิวหนัง ขน ดวงตา จมูก และช่องปากเป็นประจำ เมื่อเห็นความผิดปกติก็จะได้ทำการแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้นครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี