“แฮมสเตอร์” และ “แฮมสเตอร์แคระ” เป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน หลายคนอาจความคิดว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แค่ขนาดของตัวที่แตกต่างกันเท่านั้น ความจริงเป็นอย่างไร และมีวิธีดูแลอย่างไร วันนี้ผมมีข้อมูลดีๆ จาก ผศ.น.สพ.ชาตรี คติวรเวช ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากครับ
ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า ทั้งแฮมสเตอร์และแฮมสเตอร์แคระนั้น ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันมาก่อนเลย แฮมสเตอร์แคระไม่ได้มีการพัฒนามาจากการผสมพันธุ์ให้มีขนาดตัวเล็กลงเหมือนเช่นในสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนและสุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ พินเชอร์ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองชนิดนี้ก็จัดอยู่ในจำพวกเดียวกัน เป็นกลุ่มของ “สัตว์ฟันแทะ” ที่มีฟันตัดคู่หน้าบนและล่างงอกยาวตลอดชีวิต
เทคนิคการเลี้ยงแฮมสเตอร์และแฮมสเตอร์แคระนั้น มีข้อที่ควรคำนึงถึงเรื่องปัจจัย 4 เหมือนในมนุษย์ ได้แก่ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค แต่ในสัตว์นั้นเครื่องนุ่งห่มคงต้องมองไปที่สิ่งรองพื้นกรง (bedding) แทน ดังนั้นในแต่ละวัน เจ้าของจะต้องมีการเช็ค ตรวจสอบปัจจัย 4 ของแฮมสเตอร์แคระว่ามีการปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
1. ที่อยู่อาศัย หรือกรง ควรอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดหรือสามารถให้แฮมสเตอร์ปีนป่ายหลบหนีออกมาได้ กรงต้องไม่โดนแสงแดดโดยตรง ไม่โดนไอแดดหรือไอความร้อนจากตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ สถานที่ตั้งกรงไม่เสี่ยงต่อการคุกคามจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น สุนัขแมว ที่จะมาทำร้ายหรือพังกรงได้
2. อาหาร ลดลงหรือพร่องไปจากการให้ปกติเริ่มแรกหรือไม่ มีการกัดแทะรูปร่างแหว่งของอาหารเม็ด ผัก ผลไม้สดที่ให้หรือไม่ หากเป็นของสดควรต้องเก็บทิ้งภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันปัญหาท้องเสียจากการบูดเน่าของอาหาร รวมถึงต้องหมั่นตรวจเช็ค “น้ำ” ในขวดว่าพร่องลดลงหรือไม่ในแต่ละวันหรือไม่ด้วย
3. วัสดุรองพื้นกรง เปียกชื้น แฉะ เปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนๆเป็นสีเหลืองเข้มและส่งกลิ่นฉุนหรือไม่ การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นในปัจจุบัน แนะนำให้เปลี่ยนทั้งหมด 100 % เลย ไม่ต้องทะยอยเปลี่ยน เนื่องจากสะดวกและมีอายุการใช้งานนาน โดยการย้ายตัวสัตว์ออกไปอยู่ภาชนะที่ป้องกันการปีนป่ายหลบหนี แล้วเปลี่ยนที่รองนอนใหม่ทั้งหมด จากนั้นก็นำตัวสัตว์กลับคืนใส่กรง อาการเริ่มแรกเขาอาจจะดูลุกลี้ลุกลน เพราะไม่มีกลิ่นเดิมของเขาที่วัสดุปูนอนในกรง แต่ปล่อยไว้สักพักไม่เกิน 5 นาที เขาก็จะหยุดพฤติกรรมแบบนั้นและใช้ชีวิตไปตามปกติได้
4. ยารักษาโรค ในที่นี้ก็หมายถึงสุขภาพของตัวแฮมสเตอร์ ในแต่ละวัน เมื่อเจ้าของเข้ามาเล่นด้วย ตัวแฮมสเตอร์จะมีอาการตอบสนองอย่างไร หากนอนซึมไม่มาหาเจ้าของ ดูไม่มีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคืออาการป่วยที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายๆ ในแต่ละวันแฮมสเตอร์จะต้องมี “พฤติกรรมการแต่งตัว”เวลา 2 ใน 3 ของแต่ละวันจะหมดไปกับการแต่งตัว ยาที่ควรติดตัวไว้เลยคือยาทาแผลที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน ไว้ใช้ทาแผลที่กัดกันและทาให้เจ้าของที่โดนกัด
กล่าวโดยสรุปก็คือ เทคนิคการเลี้ยงแฮมสเตอร์ ต้องคำนึงถึงปัจจัย 4 ในรูปแบบของเขา แต่อย่างไรก็ตาม วัสดุอุปกรณ์หลักที่จะต้องใช้ในการเลี้ยงก็คือ กรง อาหาร น้ำ วัสดุรองพื้นกรง และยารักษาโรค ส่วนอุปกรณ์อื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วจึงถือได้ว่าคือ “อุปกรณ์เสริม” ได้แก่ วงล้อ บ้าน ท่อ ชามอาหาร หรือผงฝุ่นอาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งมีหรือไม่ก็ได้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของแฮมสเตอร์ การวางจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงจึงเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อชักชวนให้เจ้าของซื้อเพื่อความพึงพอใจของเจ้าของนั่นเอง
ต้องหมั่นสังเกตปริมาณอาหารที่ให้กิน ให้มีปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม แฮมสเตอร์จะรีบเก็บอาหารไว้กระพุ้งแก้มและไปคายอาหารตามมุมต่างๆเพื่อเป็นเสบียงตุนเอาไว้ หากเจ้าของให้อาหารเยอะเกินไป การกักตุนจะมีอย่างเหลือเฟือ และเกิดการสูญเสียได้ นอกจากนั้น การปลุกแฮมสเตอร์ขณะนอนหลับหรือการจับบังคับเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้แฮมสเตอร์ของเราไม่มีความสุข ในการจับอุ้มขึ้นมาเล่น อย่าทำแฮมสเตอร์ตกพื้น และอย่าจับบังคับในลักษณะที่รุนแรง แฮมสเตอร์เหล่านี้จะต่อต้านเจ้าของหากทำสิ่งดังกล่าว และจะไม่เชื่องต่อเจ้าของอีกต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับแฮมสเตอร์จะเกิดความร้าวฉาน ขาดสะบั้นลงทันที หากจะปลุกตอนที่เขาหลับ ให้ใช้การเขย่าหรือเคาะกรงเรียกทักทายกันก่อน เขาไม่ชอบให้ถึงเนื้อถึงตัวทันที เขาจะตกใจ การจับอุ้มให้ทำด้วยความระมัดระวัง อาจใช้อุปกรณ์ในการช้อนตัวเขาออกมาจากกรงเริ่มต้นก่อนได้
กรณีที่แฮมสเตอร์ทะเลาะกัน ให้ใช้ภาชนะถ้วยพลาสติกแยกแต่ละตัวออกมา อย่าใช้มือตัวเองห้ามศึก หรือเป็นกรรมการห้ามมวยโดยเด็ดขาด เพราะกรรมการมีโอกาสสูงมากที่อาจจะต้องไปล้างแผลที่โรงพยาบาลเป็นรายต่อไป หากเกิดการทะเลาะกันบ่อยให้จับแยกหรือเปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่แล้วเอาทั้งสองตัวมาคลุกรวมกันก่อนปล่อยลงกรงเดิม แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นแม่อุ้มท้องหรือเลี้ยงลูกสมควรจับตัวเมียตัวอื่นแยกกันคนละกรง เนื่องจากจะมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการหวงลูกของแม่ได้ ส่วนตัวผู้ยังสามารถอยู่รวมกันกับตัวเมียดังกล่าวได้
จะเห็นได้ว่า เทคนิคการเลี้ยงแฮมสเตอร์นั้นไม่ได้ยุ่งยากเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าของควรที่จะต้องศึกษาก่อนว่าสัตว์ชนิดที่เราจะเลี้ยงมีพฤติกรรมอย่างไร ไม่เพียงแต่แค่ฟังคนขายหว่านล้อมเพียงอย่างเดียว และต้องคำนึงถึงเสมอว่าสัตว์ทุกชนิดที่เราเลี้ยง หากินเองไม่ได้ ชีวิตขึ้นอยู่กับกำมือของเจ้าของเป็นสำคัญ ฝากไว้ให้คิดนะครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี