เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวรายงานว่าประเทศไทยตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในสุนัขและแมวจากเจ้าของ เป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงสัตว์หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่าผู้เลี้ยงจะสามารถติดโควิดจากสัตว์เลี้ยงด้วยหรือไม่ วันนี้ผมมีข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อลงกร อมรศิลป์ ภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ครับ
อาจารย์กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2564 ทางศูนย์ฯได้ทำการวิจัยศึกษาการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว ได้เฝ้าระวังโรคและเก็บตัวอย่างจากสัตว์เลี้ยงในบ้านผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบเชื้อไวรัสจากตัวอย่างสุนัข 3 ตัวและแมว 1 ตัว ส่วนใหญ่มาจากการที่สัตว์เลี้ยงสัมผัสใกล้ชิดกับเจ้าของที่ติดเชื้อ ทำให้เห็นได้ว่าเจ้าของสัตว์ที่ติดเชื้อและป่วยด้วยโควิด-19 สามารถแพร่มาสู่สัตว์เลี้ยงได้ แต่สุนัขและแมวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการป่วย รวมถึงพบว่าสัตว์ที่ติดเชื้อทั้งหมด 4 ตัวนั้น มีเพียง 1 ตัว ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่นมีน้ำมูก และดีขึ้นภายในไม่กี่วัน
แต่ต้องเรียนว่า ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงาน ในวารสารทางวิชาการหรืองานวิจัยว่ามีการติดเชื้อจากสุนัขและแมวกลับมาสู่คนเลย ดังนั้น จึงอย่าตื่นตระหนกไปครับ
ในกรณีที่สุนัขและแมวติดเชื้อ สิ่งที่เจ้าของพึงกระทำคือ ไม่ควรนำสุนัขและแมวเหล่านั้นไปปล่อยหรือทิ้ง เจ้าของสามารถดูแลได้ตามปกติ เพียงแต่ควร แยกบริเวณและมีการทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงหรือกรงสัตว์ ให้สะอาด ส่วนการปฏิบัติตัวของผู้เลี้ยงนั้น ก็กระทำเช่นเดียวกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโควิด-19 เหมือนที่เราปฏิบัติกันอยู่แล้ว คือ การรักษาระยะห่าง กรณีที่จะต้องเข้าใกล้สุนัขและแมวที่ติดเชื้อก็ควรสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเอาน้ำและอาหารให้เขาตามปกติ
กรณีที่สงสัยว่าสุนัขและแมวของเราจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ผู้เลี้ยงสามารถนำสัตว์เลี้ยงของท่านมาทำการตรวจวินิจฉัยได้โดยติดต่อนัดหมาย และ สอบถามรายละเอียด ที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.02-2189576
ทั้งนี้ ผมขอฝากเรื่อง ข้อควรปฎิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในกรณีที่มีคนในบ้านติดโรคโควิด-19 ดังนี้ครับ
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับสุนัขและแมวหรือสัตว์อื่นๆ
2.การให้อาหารและน้ำสัตว์เลี้ยง สามารถได้ตามปกติ โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสตัวสัตว์และกรงสัตว์
3.กรณีไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ สามารถให้ผู้อื่นดูแลแทนได้ตามข้อควรปฏิบัติ (อย่าทิ้งหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงเด็ดขาด)
ส่วนในกรณีที่มีสุนัขและแมวที่บ้านติดโควิด-19 ก็มีข้อควรปฏิบัติดังนี้ครับ
1.ไม่ควรทิ้งหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงที่ติดโรค
2.สังเกตอาการสัตว์เลี้ยงอย่างละเอียด (สัตว์อาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเล็กน้อย เช่น ไอ จาม หอบ หายใจลำบาก อาเจียน ท้องเสีย แต่มักหายได้เองใน 2 สัปดาห์)
3.ควรดูแลและแยกเลี้ยงสัตว์ในบ้าน โดยแยกขังกรงประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าได้รับการตรวจยืนยันว่าปลอดจากเชื้อไวรัสแล้ว (ย้ำว่า ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากสุนัขและแมวสู่คน)
4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขและแมว ควรรักษาระยะห่าง สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสตัวสัตว์และกรงสัตว์
5.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อชามน้ำ-อาหาร ผ้าขนหนู เครื่องนอน และกรงสัตว์ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
6.เก็บอุจจาระ ปัสสาวะ หรือของเสียต่างๆ ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และล้างมือทุกครั้ง และใส่ถุง 2 ชั้นก่อนทิ้ง
7.ผู้ท่ี่มีความเสี่ยงสูง เช่นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ควรให้สมาชิกในครอบครัว เป็นผู้ดูแลสัตว์แทน
8.ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการป่วย ควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรือโทรปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ (โควิด-19 ในสัตว์) เบอร์ 065-5972422
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี