การได้ยินประเมินจากระดับเสียงเบาที่สุดที่ได้ยินของหูแต่ละข้าง โดยจะถือว่ามีภาวะการได้ยินบกพร่อง หรือหูตึงเมื่อต้องใช้เสียงดังมากกว่า 25 เดซิเบล ในห้องเงียบจึงจะเริ่มได้ยิน และจะเรียกภาวะหูหนวกเมื่อต้องใช้เสียงดังมากกว่า 90 เดซิเบล
ผลกระทบที่เกิดกับเด็กที่มีการได้ยินบกพร่องนั้น พบว่ามีผลกระทบอย่างมากพัฒนาการทางด้านภาษาและด้านจิตใจของเด็ก อาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางการพูดและการเรียนที่ช้า ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง และส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้ก้าวร้าว หรือซึมเศร้าได้ โดยการได้ยินบกพร่องเป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 1-3 คนในเด็กแรกเกิด 1,000 คน และพบได้บ่อยขึ้น 10-20 เท่าในเด็กแรกเกิดที่มีปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงการได้ยินบกพร่องสูงในเด็กที่...
• ประวัติครอบครัวหรือเครือญาติที่มีเด็กหูหนวกหรือเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดหรือตั้งแต่เด็ก
• มีภาวะการเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลวิกฤตทารกแรกคลอดหรือได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำนานเกิน 5 วัน
• มีประวัติเจ็บป่วยที่สำคัญในช่วงแรก เช่น
• ตัวเหลืองจนได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจระหว่างรักษา เป็นต้น
• มีประวัติการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
• มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า โดยเฉพาะการผิดรูปของใบหู และช่องหูตั้งแต่กำเนิด
• มีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือประวัติการติดเชื้อที่ทำให้หูหนวกได้ เช่น หัด คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบและไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
• มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบบ่อยๆ
• อายุน้อยกว่า 6 เดือน แต่ไม่สะดุ้งตกใจเวลามีเสียงดัง ไม่หันศีรษะหาเสียง ไม่หยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงปลอบ ไม่เล่นน้ำลายหรือส่งเสียงอืออา
• อายุถึง 1 ปี แต่ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อไม่หัน ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
• อายุระหว่าง 1-2 ปี แต่ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้ หรือพูดได้น้อยกว่า 20 คำ
• ไม่ตอบสนองต่อเสียง
อาการแสดง ที่บ่งชี้ว่าบุตรหลานของท่านอาจมีภาวะการได้ยินบกพร่อง คือการตอบสนองต่อเสียงที่ไม่ปกติ เช่น
• ไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง
• เรียกไม่หัน หรือพัฒนาการด้านภาษาไม่สมวัย
• ตอบสนองต่อสิ่งที่เห็น แต่ไม่ตอบสนองต่อคำพูด
• พูดไม่ชัด หรือตอบคำถามไม่เหมาะสมกับบริบท
ทำอย่างไร ควรให้เด็กได้เข้ารับการตรวจร่างกายและทดสอบการได้ยินให้เร็วที่สุด โดยการตรวจคัดกรองการได้ยินสามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิด ทำได้ง่าย รวดเร็วปลอดภัยและไม่ทำให้เจ็บปวด หากพบว่ามีความผิดปกติจึงจะทำการวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจคลื่นสมองที่เกี่ยวกับการได้ยิน ทำให้ทราบว่าเด็กสูญเสียการได้ยินระดับใดเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูโดยเร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก
การดูแลฟื้นฟูการได้ยิน โดยการให้การรักษาด้วยการให้ยา ผ่าตัด หรือการใส่เครื่องช่วยฟัง รวมถึงการฝึกพูดและฝึกฟังเพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษา ขึ้นกับสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการได้ยินบกพร่องในเด็กในแต่ละคนตามความเหมาะสม
เด็กที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและฟื้นฟูการได้ยินเร็วและเหมาะสมโดยเฉพาะก่อนอายุครบ 6 เดือน ด้วยความร่วมมือของผู้ปกครอง นักโสตสัมผัสและนักแก้ไขการพูด จะมีความสามารถในการพูดและการใช้ภาษาใกล้เคียงกับเด็กปกติ และมีโอกาสพัฒนาเทียบเท่าเด็กหูดี
ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน ภายในอายุ 6 เดือน เนื่องจากแม้ไม่มีความผิดปกติที่สังเกตได้ หรือเห็นได้ชัดแต่กำเนิดก็อาจมีความผิดปกติของการได้ยินแอบแฝงอยู่ได้
บทความโดย
พญ.นิชธิมา ฉายะโอภาส
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี