จบไปแล้วสำหรับการเดินเกมประสานของประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส “เอ็มมานูเอล มาครง”ในฐานะ “โซ่ข้อกลาง” ในความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” สองประเทศที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การปกครองของอดีตมหาอำนาจโซเวียต
หลังการเจรจากับทางเครมลินมาครงยืนยันว่า ประธานาธิบดี“วลาดีมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่มีการเพิ่มกำลังทหารเติมเข้าไปยังชายแดนระหว่างสองประเทศในตอนนี้ แต่ยังคงตรึงกำลังทหารที่มีอยู่เดิมเอาไว้อย่างเข้มแข็ง
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อรัสเซีย และทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่กำลังหาทางให้เกิดขึ้นในเร็ววัน ซึ่งทางปูตินก็แสดงความพร้อมในการมีส่วนร่วมกับแนวทางดังกล่าว ถ้าทางฝั่งของยูเครนสามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศของตัวเองได้สำเร็จ (จากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย) และจะรอการเจรจาอีกครั้งหลังจากที่ทุกฝ่ายพร้อมที่จะยื่นข้อเสนอและพูดคุยอย่างจริงใจ
“แม้จะมีทหารกว่า 1 แสนนายอยู่ที่ชายแดน แต่เราไม่ได้มีแผนในการบุกโจมตียูเครนแต่อย่างใด” นี่คือท่าทีล่าสุดของทางการรัสเซีย
ด้านประธานาธิบดี “โวโลดิเมียร์เซเลนสกี้” แห่งยูเครน ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงการเจรจาที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ว่า ตัวเขาเองนั้นจะยังไม่เชื่อมั่นแค่คำพูด หรือลมปากของคน เพราะเชื่อว่า นักการเมืองทุกคนสามารถแสดงความจริงใจให้เห็นได้ ด้วยการทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา และตั้งความคาดหวังถึงโต๊ะเจรจาที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทุกฝ่ายนัดหารือกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (2022) ที่จะยกระดับเป็นการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครน รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในยูเครนตะวันออกที่หยุดชะงักให้เดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้องไม่มีการประนีประนอมเกี่ยวกับบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน สอง ต้องไม่มีการเจรจาโดยตรงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากมอสโก และสาม ต้องไม่มีการแทรกแซงนโยบายต่างประเทศของยูเครน
ฟากพี่ใหญ่ของโลกตามที่นักวิเคราะห์การเมืองต่างประเทศให้เครดิตกันอย่างสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า ย่อมต้องมีทีท่าออกมาในทางคัดง้างกับรัสเซีย และหนุนหลังยูเครนแบบไม่ต้องสงสัย มีการประกาศกร้าวให้ทหารเกือบหมื่นนายในสหรัฐฯ เตรียมตัวให้พร้อมในการเข้าประจำการในพื้นที่ยุโรปตะวันออก และ 3 พันนายเดินทางไปคุมเชิงอยู่ที่โปแลนด์ เยอรมนี และโรมาเนีย
ด้าน “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แห่งพรรคเดโมแครต ก็เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปให้กับยูเครน เพื่อใช้ในการเสริมความมั่นคงของประเทศ เช่นเดียวกันกับ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญมากของสหรัฐฯ และกลุ่มนาโต (Nato) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือกลุ่มพันธมิตรด้านการทหาร ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ คือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันประเทศสมาชิกองค์การนาโต มีจำนวนเพิ่มเป็น 19 ประเทศ โดยมี กรีซ ตุรกี ลักเซมเบิร์ก สเปน ฮังการี เช็ก และโปแลนด์ เข้ามาร่วมด้วย) ก็ส่งระบบอาวุธต่อต้านรถถังให้แก่ทางรัฐบาลยูเครน โดยให้เหตุผลในการสามารถเอามาปกป้องตนเองได้ มิใช่นำไปสู้รบกับรัสเซีย
และนี่เองที่ทำให้ประเทศที่พยายามแสดงตัวเป็นนักเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างฝรั่งเศส และเยอรมนี มองว่า ทางรัฐบาลวอชิงตัน และพันธมิตรที่เหนียวแน่นอย่างกลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักรอาจแสดงท่าทีคุกคามทางรัสเซียมากจนเกินไป ซึ่งอาจมีผลทำให้การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจล้มเหลว และนั่นจะนำไปสู่การปะทะกันที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะนำพาประเทศอื่นๆอันเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของทั้งสองฝั่งเข้ามาร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ ที่ถ้ามองภาพไปข้างหน้าแล้วสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยฉากทัศน์ดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้น “สงครามโลกครั้งที่ 3” ตามที่สื่อสารมวลชนนักวิเคราะห์ทางการเมือง รวมไปถึงบุคคลสำคัญในแต่ละรัฐบาลของทั้งสองฝั่งให้ความกังวลมาก่อนหน้านี้
กระนั้น ประธานาธิบดีไบเดน ก็ยังคงระบุว่า มีความเห็น “เป็นเอกฉันท์” กับบรรดาผู้นำยุโรป (ครอบคลุมถึงทุกประเทศของกลุ่มนาโต) ในเรื่องยูเครน และแต่ละประเทศต่างก็ให้ความสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทบาทอันแตกต่างกันออกไป สหรัฐฯ กับพันธมิตรบางส่วนในยุโรป ก็แบบหนึ่ง เยอรมนีก็แบบหนึ่ง แม้ไม่ร่วมกดดัน แต่ก็พร้อมช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้นต่อยูเครน ในกรณีที่อาจเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต และทางฝรั่งเศสก็เดินสายสันติภาพหาทางจบเรื่องดังกล่าว ตามที่เปิดต้นเรื่องมาก่อนหน้านี้
การพูดคุยที่เคยหยุดลงจากทุกฝ่ายคงต้องเกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง ความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย และคำมั่นสัญญาของสหรัฐ และพันธมิตรนาโต เรื่องการไม่บุกประชิดดินแดนรัสเซีย ด้วยส่วนหนึ่งของรัสเซียเอง จะกลายเป็นข้อต่อรองสำคัญหลังจากหมากเกมเกี่ยวกับการโอบรัดยูเครนเข้ามาเป็นหนึ่งในนาโตสัมฤทธิผล
และล่าสุดของล่าสุด ทั้งปูตินและประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ของยูเครน ต่างยืนยันว่า ยังยึดมั่นในหลักการข้อตกลงสันติภาพปี 2014 หรือที่เรียกกันว่า “ข้อตกลงกรุงมินสก์” ซึ่งปูทางสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทที่ยืดเยื้อในยูเครนตะวันออก และนั่นอาจเป็นทางออกทั้งหมดของเรื่องนี้ นี่คือความเคลื่อนไหวสุดท้ายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง บนพื้นที่สื่ออย่างเป็นทางการ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี